หมวดหมู่
Uncategorized

Mind full or Mindful, Don’t mind

จะ mind full หรือ mindful
มันก็เรื่องของ mind
ไม่ใช่เรื่องของเรา (not mine)
ถ้ายังหลงเกลียด mind full
หลงชอบ mindful ก็ยังไม่ mindful
หมวดหมู่
Uncategorized

รู้ทันอาการเยอะ

#ฝึกรู้ทันอาการเยอะ
เยอะแล้วยุ่ง เงื่อนไข กฎเกณฑ์เยอะ
ยอมรับความจริงที่ปรากฏตรงหน้าไม่ได้
บ่นต้องอย่างนั้น ไม่น่าอย่างนี้
ทำไมถึงไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้
มีอย่างนี้ อยากได้อย่างนั้น ฯลฯ

#ฝึกยอมรับความจริงที่กำลังเผชิญ

#ฝึกยอมรับความจริงที่กำลังเผชิญ

หมวดหมู่
Uncategorized

ฝึกสติไม่ห้ามคิดลบ

ฝึกสติไม่ใช่เพื่อหยุดคิดลบ
แต่ฝึกให้รู้ทันเวลามีความคิดลบเกิดขึ้น
แล้วไม่หลงไปกับความคิดลบนั้น
ฝึกใหม่ ๆ ก็มีหลงไปบ้าง ทันบ้างไม่ทันบ้าง
เป็นธรรมดา เมื่อชำนาญขึ้นก็หลงไปตามความคิดลบน้อยลง
สั้นลง ในที่สุดก็เป็นอิสระจากความคิดลบได้
ย้ำว่าความคิดลบจะยังคงเกิดขึ้นได้
คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด พยายามห้ามความคิด
ยิ่งห้ามก็ยิ่งคิด รู้แย่ที่หยุดไม่ได้ เลยพานว่ายาก
บางคนมีความคิดไม่ดี ก็ตามด้วยความรู้สึกผิด
สร้างทุกข์สร้างภาระให้กับจิตใจ ที่ถูกที่ควรคือ
ให้มองหรือวางใจว่าความคิดเป็นแค่สิ่ง ๆ หนึ่งฅ
หรือปรากฏการณ์หนึ่งที่ใจรับรู้ ไม่ใช่สิ่งที่น่ายึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา
หมวดหมู่
Uncategorized

Neither mind full nor mind empty

ภาพนี้ดูเผิน ๆ ไม่พิจารณาอะไรมากคงจะถูกใจทุกคน โดยเฉพาะคนที่สนใจเรื่องสติหรือ mindfulness แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้ง อาจจะตีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากแก่นของ mindfulness กล่าวคือ เกิดความเข้าใจว่า mindfulness ทำให้ได้ความสงบ สมองปลอดโปร่ง ไม่มีความคิดฟุ้งซ่านวุ่นวาย คือเปลี่ยนจากภาพด้านซ้ายกลายเป็นภาพด้านขวา

ที่ถูกต้องแล้ว mindfulness เป็นไปเพื่อใจที่เปิดกว้าง เป็นกลางต่อทุกสภาวะ (ฝึกใหม่ ๆ ยังไม่กลางก็เปิดใจยอมรับ) ไม่หลงไปเกลียดทางซ้าย ไม่หลงไปยึดไปอยากได้หลงชอบจะเอาแต่ข้างขวา ฝึกให้เป็นผู้สังเกต ในภาพก็คือ คนตัวเขียว ๆ ที่ไม่ดิ้นรนหนีซ้ายไปเอาขวา ไม่หลงได้ขวาแล้วก็อยากยึดไว้ไม่อยากให้ความสงบหายไป   หากความเข้าใจและเห็นถูก เห็นตรงตามนี้ การฝึกสติจะเป็นเรื่องที่เรียบง่าย เพราะเป็นฝึกละ ฝึกปล่อย ไม่เอาอะไร
หมวดหมู่
Uncategorized

สคส ๒๕๖๕

หมวดหมู่
Uncategorized

หัดอยู่เฉย ๆ (อีกครั้ง)

อย่ามัวเสียเวลาดิ้นรนเรียนรู้
เทคนิกวิธีจัดการอารมณ์
เริ่มฝึกอยู่เฉย ๆ กับอารมรณ์บ้าง
เบื่อ เหงา เซ็ง เศร้า ฯลฯ นั่งอยู่กับมันไป
ใหม่ ๆ ก็แค่ตั้งใจจะหัดอยู่กับอารมณ์
ให้ได้มากขึ้นโดยไม่ดิ้นรน
จัดการวุ่นวายใจกับมัน แค่อยู่เฉย ๆ
ใจกว้างเปิดรับ ไม่ผลัก ไม่หลงตาม
ทำได้ดีง่ายบ้างยากบ้างหัดไปฝึกไป
ความชำนาญเข้มแข็งของจิตจะพัฒนาขึ้น
เป็นกลางต่ออารมณ์มากขึ้น
“สักแต่ว่า” เป็นอารมณ์ที่ปรากฏได้มากขึ้น
ความยึดถือในอารมณ์จะค่อย ๆ เบาบางลง
นี่คือ การ #upskill ที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่า skill ใด ๆ
หมวดหมู่
Uncategorized

หมั่นเกาะอยู่กับหลักอย่าปล่อยใจล่องลอย

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฝนจะตก แดดจะออก ไฟดับ เครียด เหงา เศร้า สนุก เบื่อ ฯ มันแค่ชั่วคราว ให้มันเป็นไปของมันอย่าไปยุ่งกับมัน มีอะไรที่ควรทำก็ทำไป ทำเพื่อไม่ให้หลงจมไปเท่านั้น ไม่ใช่ทำให้มันหาย  เหมือนน้ำป่ามาเราทำได้คือเกาะหลักไว้แค่นั้นจนกว่าน้ำมันจะลง ไม่ใช่เกาะหลักเพื่อให้น้ำลง หรือมัวแต่เร่งลุ้นให้น้ำลงเร็ว ๆ เกิดมันลงช้าก็เหนื่อยเปล่ากับการลุ้น

หลักสำหรับชีวิตที่ไม่ต้องหาคือกายของเรา ระลึกที่กายที่ลมหายใจไว้เรื่อย ๆ ให้ใจอยู่กับหลัก กระแสอารมณ์อะไรพัดมาก็แค่เกาะหลักไว้ ทำบ่อย ๆ ก็จะมั่นคงเหนียวแน่น ไม่หลุดลอยไปตามกระแสความคิดอารมณ์ความรู้สึก

หมวดหมู่
Uncategorized

เราภาวนาไปเพื่ออะไร

ตอบคำถามโดย รศ. นพ. ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ในโครงการ 15 ปี จิตตปัญญาศึกษา พาใจกลับบ้าน

จัดโดย ทีมอาสากิจกรรมภาวนา 8@Home วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน 2564 เวลา 20.00-21.20 น.

ถาม: เราภาวนาไปเพื่ออะไร

ความหมายของคำว่าภาวนาคือ ทำให้เจริญขึ้น สิ่งที่ไม่มีก็ทำให้มีขึ้น ไม่ได้หมายถึงอะไรทางกายภาพ แต่เป็นนามธรรมล้วน ๆ คือเรื่องของการพัฒนาจิตใจ จิตใจทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ เมื่อรับรู้ก็มีกระบวนการที่ดำเนินการตามข้อมูลพื้นฐานที่มีอยู่ในองค์ประกอบของจิต  ที่เราเรียกว่าขันธ์ ซึ่งก็มีการปรุงแต่ง มีการแต่งเติม เทียบเคียงกับของเก่า ดังนั้นการภาวนาก็เพื่อพัฒนาให้เราเข้าใจกระบวนการตรงนี้ ว่าที่เราเห็น ๆ ที่เราสัมผัสกันได้นั้น มีที่มาที่ไป มีเบื้องหลังการถ่ายทำของมัน เหมือนภาพยนตร์ที่มีเบื้องหลังการถ่ายทำ ไม่ใช่ของจริง 

เรากำลังพัฒนาดวงตาที่เห็นความจริงของปรากฏการณ์ นี่พูดถึงแก่นกันเลย ไม่ได้พูดเรื่องของคุณงามความดีหรือการทำจิตใจให้ผ่องใส ให้สงบ นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ที่ภาวนาคือเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นธรรม เห็นตามความเป็นจริง อาจดูเหมือนพูดลึกไปสักนิด แต่มันคือปลายทางสุดท้าย เมื่อเราเข้าใจแบบนี้ จะรู้ว่าทิศทางที่เราเดินไปสุดทางคืออะไร จะเดินไปได้ถึงตรงไหน เราก็เดินได้ไม่ผิดทาง โอกาสหลงทางจะน้อยลง

เรามาภาวนาไม่ได้เพื่อเอาอะไรมาเติมเข้าไป แต่ทำเพียงเพื่อสังเกตสิ่งที่เป็นไป เรามาเรียนรู้เพื่อให้ความคิดสัมผัสผัสสะ ระบบประสาท ระบบร่างกาย การรับรู้ของเรามีความสามารถที่จะสังเกตเห็นความเป็นไปที่ละเอียดในเชิงของกระบวนการ นี่จึงไม่ใช่การมาเพิ่มเติม หรือใส่อะไรเข้าไป แม้จะบอกว่าเราต้องเพิ่มความเพียร เพิ่มศรัทธา แต่ก็เป็นไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจให้ถูกต้องขึ้น ไม่ได้เป็นไรเพื่อจะเอาอะไร แต่เพื่อเห็นและเข้าใจตามความเป็นจริง อันนี้เป็นแก่น (3.50) 

การจะเห็นหรือเข้าใจตามความเป็นจริง เนื่องจากเราคุ้นชินกับการทำงานของจิตใจแบบเดิม ๆ ด้วยการคลุกเข้าไปกับเหตุการณ์ เหมือนเราหลงเข้าไปกับกระบวนการนั้น ดังนั้น ความสามารถที่จะสังเกตสิ่งที่เป็นไปในชีวิตตามความเป็นจริงจึงน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่เราหลงเข้าไปกับเหตุการณ์เลย การสังเกตความเป็นจริงที่เราพูดกันนี้ จึงเป็นการทำที่สวนทางกับความเคยชินเดิม ดังนั้น สิ่งแรกเราจึงต้องเรียนรู้ที่จะเห็นแบบแผนของความคุ้นชินเดิม ๆ ที่เรียกว่าขันธ์มันทำงานเป็นอัตโนมัติตามเหตุตามปัจจัย เห็นทุกอย่างว่ามันมาจากเหตุปัจจัย และเริ่มรู้ว่าเหตุปัจจัยนั้นคืออะไร (4.30)

เดิมเราไม่เคยรู้เหตุปัจจัย เราได้แต่เดาว่ามาจากนู่นนี่ ตอนนี้เรากำลังจะเริ่มเข้าใจเหตุปัจจัยว่า เหตุที่แท้จริงมีที่มาอย่างไร เหตุที่ทำให้มันจบ ให้มันหายไปคืออะไร มันเกิดขึ้นมาจากเหตุอะไร มันหายไปมาจากเหตุอะไร แล้วก็ถ้าเราจะไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก เราจะทำอย่างไร เราจะวางใจอย่างไร จะเห็นอะไร เราจึงจะถอดถอนออก ไม่มีอะไรจะเกิดขึ้นอีกแล้ว เป็นการวางความยึดมั่นถือมั่นทั้งหมด เป็นปลายทางสุดท้าย 

ถ้าเอาแบบบ้าน ๆ เอาเบื้องต้นก่อน คือเราภาวนาเพื่อให้จิตผ่องใสเบิกบาน ความผ่องใส ความเบิกบานใจจะเกิดขึ้นจากการที่เรารู้ทันว่าเราเอาความไม่ผ่องใส เรายึดถือเอาความหนัก ความไม่ผ่องใสอยู่ ที่เราเรียกว่านิวรณ์ทั้ง 5 ที่ทำให้จิตเศร้าหมอง เราก็หัดรู้ทันอาการของจิตที่ถูกนิวรณ์ครอบงำ เมื่อรู้ทีนึงก็หลุดจากการถูกนิวรณ์ครอบงำทีนึง รู้บ่อย ๆ ก็ถูกครอบงำน้อยลง คล้าย ๆ กระจกที่ถูกฝุ่นเกาะเรื่อย ๆ รู้ทันบ่อย ๆ ก็เหมือนได้เช็ดฝุ่นบ่อย ๆ กระจกก็มีความใสขึ้น แต่ใสยังไงก็ยังมีกระจก แก่นสุดท้ายของพุทธศาสนาคือ ปฏิบัติธรรมจนเห็นแจ้ง เห็นจริง ไม่มีกระจก ไม่มีอะไรให้ฝุ่นเกาะแล้ว (6.15) 

ระหว่างนี้เราก็เช็ดกระจกไปก่อน เช็ดไปเราก็ฝึกเห็นอาการที่จิตมันมัว จิตไม่ผ่องใสไปก่อน จิตไม่ผ่องใสจากอารมณ์ จากความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ อันนี้ต้องหมั่นสังเกตด้วยตัวเราเอง ว่าจิตที่มีความขุ่นมัว (อกุศล) มีความไม่ผ่องใสเกิดขึ้นนั้น มีอาการอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเหงา ความเบื่อ ทั้งหลายที่เราเกิดความไม่พอใจขึ้น หรือแม้แต่ความพอใจที่เกิดขึ้นก็ตาม การหลงยึดความพอใจ สักพักสิ่งที่เราพอใจมันก็จะหายไป ไม่มีอะไรอยู่กับเราถาวร เราพร้อมหรือเปล่าที่จะรู้ว่าเดี๋ยวความพอใจมันก็ไป เวลามีความสุขเราก็อยู่กับมันพร้อมกับก็รู้ว่ามันก็ไม่เที่ยง พอเวลามันไปก็มีความเศร้าโศกเสียใจเป็นธรรมดา ไม่คร่ำครวญยาวหรือเยอะแบบที่เคยเป็น แล้วก็กลับมาตั้งหลัก นี่คือการใช้ชีวิตประจำวันของเราให้ใจเราเป็นปกติ ตามที่ได้คุยกันคราวที่แล้วว่าเราภาวนาเพื่อให้จิตใจมีความปกติมั่นคง ที่จะเผชิญปัญหาต่าง ๆ (7.32)

ถาม: เวลานอนไม่หลับ พลิกไปพลิกมา เกิดจากเราดูตัวไหนในใจไม่ทันหรือเปล่า เพราะเมื่อนอนไม่หลับ จิตมันดิ้น กายมันก็ดิ้นไปด้วย 

ส่วนใหญ่คนที่นอนไม่หลับมีปัญหาตรงที่อยากนอนให้หลับ เราไม่ได้เป็นกลางกับสิ่งที่เป็นอยู่ มีคำแนะนำแรกคือ ให้เรานอนไม่หลับอย่างเป็นสุขก่อน คือไม่หลับก็ไม่เป็นไร ศาสตร์เรื่องการนอนบอกว่าการได้พักผ่อนสำคัญกว่าการหลับ หลับได้ก็ดี หลับไม่ได้ก็ได้พักผ่อน แต่พอเราเอาการหลับมาเป็นใหญ่ เมื่อหลับไม่ได้ก็กลายเป็นไม่ได้พักไปด้วย เกิดความดิ้นรนจะให้หลับ 

หลักการคือเมื่อไม่หลับแต่ได้พัก (restful) ก็คือจบ เราไม่จำเป็นต้องนั่งนับชั่วโมงการนอน ไม่ต้องมีการรอคอยเพื่อที่จะหลับ เพราะพอไม่หลับแล้วรอคอย แล้วเกิดความกระสับกระส่าย จากนั้นก็มีท่าทีของการเพ่งเล็งอยากได้ เมื่อไม่ได้ก็เกิดการคับข้อง เมื่อคับข้องก็มีความดิ้นรน พลิกทางโน้นทีทางนี้ทีจากความไม่สบาย ความอึดอัดคับข้อง 

นี่เป็นสูตรสำเร็จที่ว่า เมื่อไรที่มีความเพ่งเล็งอยากได้อะไรบางอย่าง เมื่อได้มันก็จะดีใจ ดีใจแล้วก็จะติดใจ เช่นวันนี้ทำได้ วันนี้หลับ วันรุ่งขึ้นก็จะเล็งแล้ว ว่าคืนนี้ขอหลับแบบเมื่อวาน นอนท่านี้ ท่องแบบนี้ อยากให้หลับแบบเมื่อวาน พอเพ่งเล็งอยากได้ก็จะไม่นอน เราภาวนาเพื่อที่จะถอนความเพ่งเล็งอยากได้ออกจากทุก ๆ อย่าง ถอนออกไม่ได้หมายความว่าทำได้ทุกครั้ง แต่มันก็จะน้อยลง ไม่ไปยึดว่าจะต้องได้อย่างนั้นทุกครั้ง ความบีบคั้นก็จะน้อยลง (10.37) 

ตอนที่เรานอนเป็นตอนที่เรามีภาระน้อยลง สมองส่วนเรื่อยเปื่อยจะปล่อยความคิดเรื่อยเปื่อยออกมา เราก็อาจหางานให้มันทำ เช่น ล่องลอย เนื้อหาที่ออกมาเป็นความคิดเรื่อยเปื่อยจะน้อยลง นี่อาจช่วยได้ แต่ก็อย่าหวังว่าทำแบบนี้แล้วจะนอน แค่หวังว่าจะดีขึ้นจะไม่ทรมาน ไม่ใช่ว่า เอ… เราก็ทำอย่างนี้แล้วทำไมยังไม่นอนอีก นี่ก็หวังอีกแล้ว 

ถาม: นอนหลับแล้วฝันร้ายบ่อย มีคำแนะนำอย่างไร 

ถ้ามักฝันร้ายเรื่องเดิม ๆ มีคำแนะนำให้ภาวนาก่อนนอน ให้ใจว่าง ๆ ไว้ ถ้าฝันร้ายประจำ ๆ มานานมากแล้ว อาจต้องไปดูสาเหตุว่ามีอะไรตกค้างอยู่ภายในใจเรา เช่น อารมณ์หรือความฝังใจบางอย่างทำงานในขณะที่เราหลับ แต่ถ้าจะว่ากันในลักษณะจิตใจที่ธรรมดา อาจสังเกตว่าระหว่างวันเรามีอารมณ์อะไรสะสมอยู่ ในชีวิตมีความบีบคั้นอะไรอยู่หรือเปล่า ที่บางทีมันจะไปปรากฏในความฝัน เบื้องต้นอาจใช้การสังเกตว่าแต่ละวันที่ฝันหรือไม่ฝันมาจากอะไร เวลานอนที่เปลี่ยนไปหรือเปล่า ออกกำลังกายมากไป หรือกินมากไปหรือเปล่า แต่ถ้าฝันร้ายธรรมดาไม่ถึงขนาดทำให้เราต้องตื่นขึ้นมา ก็ไม่น่าต้องไปทำอะไรกับมัน 

หากมีฝันร้ายที่เป็นเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ บางทีเราใช้วิธีบอกตัวเองไว้ล่วงหน้า ว่าถ้าฝันแบบเดิมอีกจะทำอย่างไร ผมเคยฝันเจอปีศาจน่ากลัวจนต้องหนีซ้ำ ๆ จากนั้นใช้วิธีบอกตัวเองว่า ถ้าฝันอีกจะไม่หนีแล้ว จะยอม พอฝันเจอปีศาจอีกก็ยอม จากนั้นก็จบ แม้จะฝันเรื่องเดิมนั้นอีก ก็ยอม แล้วก็ทำให้ทุกอย่างจบเร็ว ไม่ต้องหนีจนเหนื่อยอีก 

นี่เป็นหลักเดียวกันกับการนั่งภาวนา เกิดอะไรขึ้นก็ยอมรับมัน ที่จริงการยอมรับแบบนี้ใช้ได้เช่นเดียวกันกับทุกเรื่อง เรามักไม่ยอมรับความรู้สึกเสียใจ ความเหงา ความเบื่อ และเราก็ดิ้นรน เราลองทำตัวแบบสยบยอม ยอมที่จะอยู่รับรู้ไปเฉย ๆ (14.48) 

ถาม: เอาการภาวนามาช่วยเยียวยาความเจ็บป่วยทางกายได้อย่างไร 

เราคงไม่ได้เน้นว่าภาวนาแล้วโรคนั้นจะหายหรือไม่หายอย่างไร แต่ภาวนาทำให้เราอยู่กับความเป็นจริง และเราก็เผชิญความเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยความเข้าใจ ด้วยความอึดอัดคับข้องน้อยลง ส่วนการรักษาที่ควรทำอะไรก็ทำไป และเราไม่บีบคั้นใจเราด้วยการนั่งตั้งคำถามว่าทำไมไม่หาย เมื่อไหร่จะหาย 

แก่นของภาวนาคือ การเห็นทุกอย่างเป็นปราฏการณ์ ความเจ็บปวดก็เป็นเวทนา เห็นมันโดยความเป็นเวทนา ไม่ใช่เป็นเราที่ปวด แต่เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ ฝึกไป มันเป็นความสามารถที่จะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ หัดใหม่ ๆ ก็จะยังเป็นเราที่ปวด เราก็ซ้อมไปเรื่อย ๆ ซ้อมให้เห็นทุกอย่างโดยความเป็นปรากฏการณ์ เห็นความกลัว ความโกรธ ความเหงา ความเบื่อ ความเจ็บ ความปวดโดยความเป็นปรากฏการณ์ทั้งหมด 

ใครที่นั่งสมาธิก็ลองหัดดู เวลาที่ปวดเมื่อยให้เราฝึกมองมันเป็นเวทนา เป็นสภาวะหนึ่งที่ปรากฏให้เราเห็น แล้วเราก็วางใจเป็นกลาง ๆ เราจะพบว่าเราอยู่ได้นะ อยู่ได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่เวลาที่เราไปยึดว่ามันเป็นเรา เราดิ้นรนอยากหาย ตั้งคำถามเยอะแยะ นั่นคือเราเริ่มไปยุ่งกับมันแล้ว มีปัญหาแล้ว อะไรที่เรายุ่งกับมัน มันก็จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา 

จะไม่เน้นเรื่องทำสมาธิแล้วหายจากโรคนั้นโรคนี้ที่มีคนพูดกันเยอะ มันไม่ค่อยได้ประโยชน์ในแง่ที่ว่า มีคนสนใจเรื่องแบบนี้เยอะแต่ไม่ลงมือภาวนา สนใจเพียงแต่ว่าสมาธิไปส่งผลอะไร อย่างไร ซึ่งก็เป็นเรื่องของการเพิ่มศรัทธาให้อยากจะทำ แต่เวทีนี้คงไม่ได้จำเป็นต้องปลุกศรัทธาให้เห็นอานิสงส์ของการภาวนาว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเราน่าจะก้าวข้ามตรงนั้นมาแล้ว ให้เรียนรู้ที่จะเอาการภาวนามาใช้ดูแลในยามที่มีความทุกข์ทรมาน ไม่สบายกาย ให้ประคองใจได้ ไม่มีความป่วยทางใจซ้ำ ให้พออยู่ได้ ไม่ทุรนทุราย ไม่ทรมานมาก วางใจได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เราอยู่กับความเจ็บไข้ได้ป่วยได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือความก้าวหน้า แม้อาการป่วยจะหายหรือไม่หายก็ไม่ทำให้จิตใจหวั่นไหวเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เราเป็นอิสระจากโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นประมาณหนึ่ง อะไรที่ต้องดูแลรักษาก็ทำไป และเราจะไม่ทุกข์ซ้ำซ้อน ทุกข์แค่กายก็พอ แต่ใจเราทุกข์กับร่างกายน้อยลง 

ใครที่ยังไม่เจ็บไข้ได้ป่วยก็ซ้อมไปเรื่อย ๆ เพราะเรารู้ว่าวันนึงก็ต้องพบกับความเจ็บไข้ได้ป่วย สมมติเวลานั่งสมาธิแล้วเราปวดขา ก็ลองนึกซ้อมว่านี่คืออาพาธอย่างหนึ่ง เป็นความเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง เราลองวางใจอยู่กับมันดูมั้ย ว่าเราก็อยู่กับความป่วยทางกายนี้ได้นะ ถ้าสักวันหนึ่งเราป่วยจริง ๆ เราก็จะพอประคองใจเราได้ นี่เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต เราไม่ได้หวังว่าเรานั่งสมาธิภาวนาแล้วจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เพราะโรคภัยไข้เจ็บเป็นของธรรมชาติ อย่างไรก็หนีไม่พ้น อย่าภาวนาเพื่อจะหนีความจริง เราไม่มีทางรู้ว่าโรคภัยไข้เจ็บจะมาเยือนเราเมื่อไหร่ (19.18) 

ถาม: อาจารย์เคยบอกให้เราโอเคได้กับการที่อะไร ๆ ไม่โอเค ขอให้ช่วยขยายความเข้าใจตรงนี้ 

นี่เป็นการภาวนอย่างหนึ่ง มองอย่างเป็นองค์รวม ไม่แบ่งแยกว่าอะไรเป็นอะไร เวลาภาวนามีคนบอกว่าเหมือนกับเราวางตัวเราไปอยู่ในพื้นที่ ในสเปซ (space) อะไรสักอย่าง เช่น ท้องฟ้า เราทำตัวเหมือนท้องฟ้าที่บรรจุทุกอย่างเลย ทั้งก้อนเมฆ หรือไม่มีเมฆก็ตาม แล้วเป็นสภาวะที่เรารู้ว่าเราอยู่เหนือสภาวะต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราดีเด่อะไร อย่างเช่น นั่งอยู่ขณะนี้ เราเห็นคนคนนึงที่เรียกว่าเรานั่งอยู่หน้าจอ ชื่ออย่างนี้ เราสัมผัสได้ รู้อย่างเป็นองค์รวมว่ามีร่างกายหนึ่งนั่งอยู่หน้าจอ มีรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง มีชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้าง เราไม่มีปัญหากับความไม่รู้เรื่อง ไม่มีปัญหากับความไม่ชอบใจ ไม่มีปัญหากับความเมื่อยความขบ ไม่มีปัญหากับการฟังไม่รู้เรื่อง การฟังไม่รู้เรื่องก็เป็นสภาวะหนึ่งให้เรารับรู้ นี่เป็นการภาวนาทั้งหมด (20.47)

ถ้าเราไม่รู้เรื่องแล้วไปยึดว่า ทำไมเราไม่รู้เรื่อง ทำไมคนอื่นฟังแล้วถามจัง เค้ารู้เรื่องกันจัง เอ้า..เราก็มารับรู้ว่านี่เราดิ้นรนเปรียบเทียบแล้ว มีเรามีเขาแล้ว นี่คือส่วนเกินที่เราชิน ๆ กันมา อ้อ..เราเห็นแล้วว่านี่มาจากการที่หลงยึดเป็นเรา หลงยึดเป็นเขา แล้วก็เปรียบเทียบ แล้วก็มีเราอยากได้เราอยากดี แล้วก็สงสัยว่าทำไมเราไม่ได้ทำไมเราไม่ดี เราเริ่มเห็นกระแสเชื่อมโยงเป็นลูกโซ่มัน สาวกลับมาเราเริ่มเห็นว่ามันเริ่มต้นจากการหลงยึด ยึดเป็นตัวเป็นตน เห็นครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ต่อไปการหลงไปยึดเป็นเรื่องเป็นราวอะไร ก็จะเริ่มเห็นได้ว่า อ๋อ..มาจากการยึดมั่นถือมั่น เริ่มเข้าใจกระบวนการของธรรมะภาคประสบการณ์ตรง ไม่ใช่ภาคของหัวสมองที่ท่องได้ มันจะไม่ใช่เรื่องของ intellectual ที่เข้าใจด้วยความคิด แต่เป็นการที่เราไปตระหนักและสัมผัสรับรู้ได้ แม้จะแว้บ ๆ อาจจะชัดเจนบ้าง แล้วก็งงใหม่ ก็ไม่เป็นไร (21.55) 

ถาม: สติคือยังไง สัมปชัญญะคือยังไง เราควรใส่ใจสังเกตรับรู้สองสภาวะนี้อย่างไร 

สติเป็นตัวจับอารมณ์ คือทำให้ recognize (ตระหนัก) อารมณ์นั้น ทำให้จับได้รู้ได้ว่าคืออารมณ์อะไร สัมปชัญญะเป็นปัญญา เป็นตัวดู สติและสัมปชัญญะต้องคู่กัน แปลว่าการรู้อะไรต้องประกอบด้วยการรู้ด้วยท่าทีแบบไหนจึงจะถูกต้อง ไม่ใช่การรู้เฉย ๆ 

การรู้เฉย ๆ นั้นเป็นผลมาจากท่าทีที่ไม่เอาอะไร ท่าทีที่รู้ว่าไม่น่ายึดมั่นถือมั่นจึงรู้เฉย ๆ แบบนั้น ไม่ใช่การรู้เฉย ๆ แบบมึน ๆ แบบไม่รู้ไม่ชี้นี่ไม่ใช่ ที่รู้เฉย ๆ คือมาจากการที่รู้แล้วเราวางใจว่ามันมาจากเหตุปัจจัย มันสักแต่ว่าเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย อย่าไปวุ่นวายอะไรกับมัน 

เพราะฉะนั้น อุปมาเหมือนสติเป็นตัวระลึกได้ รู้ได้ จับอารมณ์นั้นได้ จับสิ่งที่เป็นนามธรรมขึ้นมาให้ใจรับรู้ เวลาที่เรามีความตระหนักแปลว่าเราเกิดสติรับรู้อารมณ์ อารมณ์เกิดขึ้นเยอะแยะ อย่างตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้นมากมายเลย แต่เราจดจ่ออยู่กับการฟัง ฉะนั้น สิ่งที่พูดก็จะปรากฏขึ้นให้รับรู้ได้ แต่ขณะที่ฟัง ๆ ไปแล้วมีอะไรบางอย่างที่ไม่เข้าใจหรืออาจนึกว่าที่พูดมันผิด ก็จะมีเสียงในหัวว่า “ไม่ใช่ พูดผิด” ใจเราก็จะลอยไปวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เห็นเหมือนคนนั้นคนนี้พูดเลย พอนึก ๆ ไปแล้วนึกว่าเราใจลอยแล้วนี่ สติตัวที่สองนึกขึ้นมาได้ แล้วก็กลับมาฟังต่อ 

เมื่อสติจับอารมณ์ได้ จับแล้วทำด้วยท่าทีอย่างไร ปัญญาต้องเป็นท่าทีที่ถูกต้อง แปลว่าเป็นท่าทีของการรับรู้ตามความเป็นจริง ทั้งสติและสัมปชัญญะควรมาเป็นแพคเกจอย่างนี้ ใหม่ ๆ เราอาจบอกแค่ว่าโกรธก็รู้ โมโหก็รู้ ไม่พอใจก็รู้ ทำอะไรก็สักแต่ว่ารู้ แต่มันจะสักแต่ว่ารู้แบบนี้ได้ต้องประกอบด้วยท่าทีที่ถูกต้อง ต้องใส่ข้อมูลหรือ algorithm เข้าไป ว่าเห็นหรือรับรู้ด้วยท่าทีอย่างไร วางใจอย่างไร เห็นด้วยท่าทีที่รู้ว่ามันมา ๆ ไป ๆ มาตามเหตุตามปัจจัย ไม่เที่ยง ไม่คงตัว แปรเปลี่ยน ไม่คงทน เมื่อไม่เที่ยงก็ไม่สมควรยึดเป็นตัวเป็นตน ป้อนข้อมูลซ้ำ ๆ อย่างนี้ก็เหมือนกับเราไปเปลี่ยน algorithm ที่เป็นโครงสร้างในการทำงานที่เป็นข้อมูลอัตโนมัติเดิม จากข้อมูลชุดเดิมที่เคยยึดเอาจริงเอาจังก็ถูกถอดถอนออก 

ถ้าเรากำลังภาวนาอยู่แล้วเกิดความสงสัยว่านี่คืออะไร สติคืออะไร ปัญญาคืออะไร ให้เราเห็นความสงสัย อย่าเพิ่งตอบ ให้เรารู้ว่าเรากำลังอยากรู้ว่านี่คืออะไร แล้วมันเป็นอดีต มันจบไปแล้ว ถ้าย้อนคิดเรื่องอดีตก็จะรู้ด้วยการคิดเอา แล้วคิดว่ามันถูก นั่นไม่ใช่ อดีตจบไปแล้วให้เราเห็นว่ามันจบไปแล้ว เห็นว่าเราอยากรู้ เห็นความไม่พอใจหรือความพอใจ การภาวนาที่ถูกต้องเป็นปัจจุบัน และไม่ไปนั่งไล่เก็บอดีตที่ผ่านไปแล้ว และไม่นั่งวางแผนตั้งท่าสำหรับอนาคต (26.26)

ตอนเริ่มต้นนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมก็ตาม หลักการคือเราอยู่กับปัจจุบัน มีแค่ปัจจุบันเท่านั้นที่เราอยู่ ความคิดอดีตก็เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ถ้าเรารู้ว่ามีการหลงคิดอดีตที่ปัจจุบัน คือเมื่อกี๊นี้เราคิดอดีต มันก็จบไปแล้ว คือสติรับรู้ว่ามีความคิด สัมปชัญญะบอกให้รู้ว่าควรนึกควรคิดหรือควรใส่ใจอย่างไร ที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ มนสิการเป็นองค์ประกอบของปัญญา เป็นองค์ประกอบของสัมปชัญญะ ทำให้เรามีท่าทีที่ใส่ใจถูกต้อง เหมือนกับว่าเราเห็นอะไรแล้วเรารู้ว่านี่ไม่ใช่ของเรานะ ไม่ไปเอาของของคนอื่นมา นี่คือวางใจถูกต้อง เช่นเดียวกันที่เราก็เห็นทุกอย่างโดยรู้ว่านี่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ใหม่ ๆ อาจเหมือนกับท่อง แต่ทำไปก็จะเริ่มรู้สึกอย่างนี้ได้ไวขึ้น เริ่มพัฒนาขึ้น ส่วนจะรู้เห็นได้อย่างเด็ดขาดเมื่อไหร่นั่นเป็นเรื่องอนาคต (27.50)

สรุปคือเราไปแก้สัญญาเก่า ๆคือ ความทรงจำเก่า ๆ ชุดตรรกะเหตุผลเก่า ๆ ที่สะสมมาถูกทิ้ง ถูกปล่อยไป ๆ เหลือความไม่มีอะไร ไม่เอาอะไร มันมาจากการถอดถอนความคิด  ความทรงจำเก่าออก อัตตสัญญา นิจจสัญญา ความเป็นตัวเป็นตน เป็นของเที่ยง สุขสัญญา เป็นของสุขเป็นของดีงาม ถูกถอดออก 

ถ้าจะแนะนำคือ อย่าไปกังวลเรื่องถูกผิด เรื่องศัพท์แสงอะไรเยอะ ให้รู้ว่าถ้าเรากำลังควานหาอะไรคือกำลังสงสัย กลับมาลมหายใจสบาย ๆ ลองกล้า ๆ หน่อย กล้าที่จะไม่รู้อะไร “เฮ้ย ถ้ามันผิดทางจะทำยังไง ถ้าไม่ถูกแล้วจะเป็นยังไง” ให้เห็นเลยว่ากำลังกังวล กำลังกลัวว่าจะผิดทาง กำลังเกิดความว้าวุ่น นิวรณ์กำลังครอบงำแล้ว เห็นตรงนั้นก็จบแล้ว กลับมาที่ลมหายใจต่อ แล้วมันก็อดคิดไม่ได้ต่อ “เอ๊ะ ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้แล้วจะทำยังไง” ก็เห็นความกลัวนั้น เห็นเป็นช็อต ๆ ไปแบบนี้ 

ถ้าเข้าใจอย่างนี้ได้จะง่ายมาก คือเราไม่เอาอะไร ปัจจุบันกลัวว่าจะทำผิดก็เห็นความกลัวตรงปัจจุบันนี่ถูกละ แล้วก็จบ “เอ๊ะ มันง่ายอย่างนี้เลยเหรอ ไม่ใช่แล้วมั้ง” อ้าว..กำลังลังเล ไม่มั่นใจ ก็ปล่อยความไม่มั่นใจไป กลับมาอยู่กับลมหายใจต่อ ความไม่มั่นใจก็หายไป ความเป็นกลางก็กลับมา “เอ๊ะ แล้วเราจะแน่ใจยังไงว่าเรามาถูกทาง” นี่เรากำลังไม่แน่ใจ เห็นความไม่แน่ใจเกิดขึ้น วางความไม่แน่ใจ ความไม่แน่ใจก็ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น เราจะได้ไม่ด่าตัวเองว่าทำไมเราเป็นคนไม่แน่ใจ เป็นคนโลเลอย่างนี้ ไม่ใช่เรา เป็นความไม่แน่ใจ เป็นความโลเลที่มันปรากฏขึ้น มันเป็นธรรมชาติของจิตใจที่ฝึกใหม่ ๆ ก็มีความวุ่นวายแบบนี้ เราวางใจได้ว่าเป็นแบบนี้ โอเคกับความไม่โอเคได้ดีขึ้น ความไม่โอเคเกิดขึ้นในแต่ละขณะที่กำลังภาวนา ไม่ใช่เกิดขึ้นแต่ในเรื่องข้างนอก มันเกิด ณ ปัจจุบันขณะเป็นคราว ๆ แบบนี้ ความผ่องใสก็เกิดเป็นคราว ๆ ไป ก็จะได้ไม่เข็ดขยาดกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้น วุ่นปั๊บ..ปล่อย วุ่นปั๊บ..ปล่อย ทางเริ่มโล่ง ๆ สะดวกแล้ว พร้อมที่จะเผชิญทุกอย่าง จะฟุ้งซ่าน จะหงุดหงิดก็ได้ จะบ้าบอคอแตกมันก็ไม่ใช่เรา เป็นแค่สิ่งที่ปรากฏให้เห็น 

ถ้าพูดให้ทันสมัย นี่คือการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้จิตใจ มีอะไรมากระทบจิตใจก็ไม่หวั่นไหว ต่อไปเราไม่กลัวเชื้อโรค ไม่กลัวไวรัสทางใจที่มีเพียบเลย ความลังเลสงสัย ความเบื่อเหงาซึมเศร้า ความง่วงเหงาหาวนอน สารพัดเลย ไวรัสทางใจเหล่านี้มาก็ไม่ทำให้เราหวั่นไหว จะกลายเป็นว่ามันมาปรากฏทีก็กระตุ้นภูมิคุ้มกันเราที ภูมิคุ้มกันก็มั่นคงขึ้น ใหม่ ๆ ภูมิคุ้มกันอาจอยู่แค่ 3 นาที หรืออยู่แค่ตอนนั่งสมาธิ พอเลิกนั่งภูมิคุ้มกันก็หายหมด นั่นก็เป็นธรรมดา เราก็เติมภูมิคุ้มกันเรื่อย ๆ เติมในระหว่างวัน กระตุ้นไปเรื่อย ๆ จะใช้เวลากระตุ้นนานแค่ไหนก็ไม่หวั่น เพราะภูมิของศรัทธามีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว มั่นใจว่าทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ได้ผลแน่นอน (31.57)

ถาม: ที่อาจารย์บอกว่าฝึกคิดที่จะกล่อมใจเรา หมายความว่าการฝึกเจริญสติสามารถใช้ความคิดนำได้ใช่หรือไม่

ได้ คำว่าโยนิโสมนสิการเป็นองค์ประกอบสำคัญ การที่เรามาคุยกันนี่เรียกว่ามีกัลยาณมิตร เราได้มาหนึ่งข้อแล้ว ส่วนโยนิโสมนสิการคือการใส่ใจถูกต้อง ทั้งสองข้อนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการมีสัมมาทิฏฐิ 

ใส่ใจถูกต้องคือ การรู้เห็นตามความเป็นจริง ทีนี้ความเป็นจริงอะไร ก็คือการใส่ใจด้วยท่าทีที่ถูกต้องที่สอดคล้องกับความเป็นจริง อาจยังไม่เห็นหรอก แต่ก็ใส่ใจโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงว่ามันไม่เที่ยงนะ ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นนะ ตอนเดินจงกรมเราทำได้ทุกอย่าง ไม่น่ายึดมั่นทั้งนั้นแหละ แต่พอออกจากลานจงกรมเรายังยึดก็ไม่เป็นไร 

เหมือนกับเราเข้าฟิตเนส ก็ทำทุกอย่างให้เต็มที่ ทำให้เข้มข้น เป็นการซักซ้อมร่างกาย หรือเหมือนการซ้อมเสิร์ฟลูกเทนนิส ก็ซ้อมและทำได้ทุกครั้ง ส่วนเวลาจะเล่นจริงก็ไม่เป็นไร อาจพลาดบ้างก็ไม่เป็นไร หมายความว่าอย่างน้อยตอนนั่งสมาธิ ตอนเดินจงกรมเริ่มทำได้ วางใจได้ดีขึ้น ก็จะมีผลต่อไปในชีวิตประจำวันเราด้วย 

มีคำที่บอกว่าปัญญาอบรมสมาธิ คือ การช่วยคิดก็เป็นการช่วยให้เราคลายใจ วางใจจากความวุ่นวาย ช่วยได้ การให้เหตุให้ผลอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องผิด เมื่อเราเห็นแล้วรู้แล้วว่าสิ่งนี้ปรากฏ แล้วเราสำทับว่าสิ่งที่ปรากฏนี้ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น เป็นการเตือนตัวเอง ตนเตือนตน นี่คือสติระลึกได้ และปัญญาเตือนตน ว่าอย่าไปยึดมันนะ ของนี้มันจบไปแล้วนะ อันนี้ใช้ได้ เสียงที่ช่วยให้เราวางการยึด วางใจในสิ่งที่เห็น เป็นการดำริเพื่อวางภาระ (34.21) 

นี่ไม่ใช่การคิดดีคิดบวก ไม่ใช่การเอาน้ำดีมาไล่น้ำเสีย เราไม่ได้รังเกียจสิ่งที่ปรากฏ แต่เป็นการที่เรายอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า โทสะเกิด เห็นโทสะเกิดโดยความเป็นโทสะ ไม่ใช่เรามีโทสะ นี่คือสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้น ต่อ ๆ ไปเมื่อพัฒนาขึ้น นอกจากเห็นความโกรธที่ปรากฏ ก็จะเห็นเหตุแห่งความโกรธที่ปรากฏ เห็นเหตุที่ทำให้ความโกรธดับหายไป เหตุที่ว่าคือการมนสิการถูกต้อง ไม่ทำอโยนิโสมนสิการ คือไม่ยึดว่าเป็นเรา ว่าเราเป็นความโกรธอย่างโน้นอย่างนี้ ว่าความโกรธทำไมไม่หายไปเสียที ไปครอบงำมัน ไปอยากให้มันหาย ไม่วางใจว่ามันเป็นเรื่องของเหตุปัจจัย โดยสรุปคือความเป็นผู้สังเกตมันหายไป ความเป็นผู้สังเกตที่บริสุทธิ์มันไม่เกิด เลยกลายเป็นวุ่นวาย 

ฉะนั้นพูดอีกแบบหนึ่ง การภาวนาคือการพัฒนาให้เกิดสภาวะความสามารถในการเป็นผู้สังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมไปยุ่งเกี่ยว โอเคกับทุกอย่าง ดูมันไปอย่างที่มันเป็น ที่ผ่านมาเราเคยชินกับการดูมันไปอย่างที่เราต้องการหรืออย่างที่เราไม่ต้องการ ถูกใจก็ชอบ ไม่ถูกใจเราก็ไม่ชอบ เรากำลังจะมาถอดความเคยชินอันนั้นออก ตัวช่วยทุกอย่าง  การคิดดำริที่เป็นไปเพื่อการปล่อย การละ การงด การเว้น การคลายความยึดมั่นถือมั่น ใช้ได้ทั้งนั้น เป็นไปเพื่อการไม่ยึดถือเป็นตัวตน ใช้ได้ทั้งนั้น 

และสังเกตว่า ถ้าดำริแบบนี้จะไม่มีคำว่า “ฉันทำได้” ถ้าใครภาวนาถูกต้อง ตัวตนเราจะไม่เพิ่ม จะรู้สึกว่ามันเป็นแค่ปรากฏการณ์ ความสงบไม่สงบ การทำได้ทำไม่ได้ ก็ไม่ใช่ฝีมือเราสักอย่าง แต่เป็นผลของจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคงผ่านการฝึกฝนเรียนรู้ เป็นผลของความเพียร เป็นผลของศรัทธา (36.57) 

จะพูดไปก็คือ การคลายความยึดถือความเป็นเราจะเริ่มกลายเป็นแก่นหล่อเลี้ยงกระบวนการเราแล้ว ถ้าภาวนาถูกต้อง สิ่งนี้จะค่อย ๆ งอกงามขึ้น ไม่มีคำถามของความเป็นเราเยอะแยะ แม้จะพูดว่าเราเห็น แต่ในความหมายมันคือเราเท่าทัน และต่อไปก็จะเริ่มเห็นว่าจิตมันเริ่มเท่าทัน 

ถาม: ตอนที่นั่งสมาธิ เราเอาสติมากำหนดรู้ที่ลมหายใจ แล้วบางภาวะที่เข้าสมาธิ สติมันหายไป แล้วก็เกิดปรากฏการณ์บางอย่าง เราเลยตกใจ สะดุ้ง แล้วจึงกลับมาทำอีกครั้งหนึ่ง มันเลยกลายเป็นการจ้อง เลยไม่แน่ใจว่าถูกผิดอย่างไร 

เวลาตกเข้าภวังค์แล้วหายไป ไม่ใช่การหลับ แต่เหมือนวูบหายเข้าไปในความสงบ อันนี้ก็เป็นปกติธรรมดา บางคนไม่เป็นก็ไม่ต้องทำให้เป็นหรอกนะ แต่บางคนมีจริตนิสัยที่จะมาทางสมถะ หรือคนที่เคยฝึกมา ก็จะเข้าสู่ความสงบได้เร็ว แต่ถ้านั่งสมาธิทีไรก็เป็นแบบนี้ทุกครั้ง ก็ขอแนะนำว่าอย่านั่ง เพราะว่าถ้าทำบ่อย ๆ แล้ววูบแบบนี้ ก็จะไม่ได้เรียนรู้ 

ให้เรารู้ว่าถ้าเรานั่งแบบนี้เพื่อเอาไว้พักผ่อน มีความสงบแล้วเกิดความสดชื่นแจ่มใสก็ทำไป แต่ถ้าต้องการทำเพื่อความก้าวหน้า เมื่อสดชื่นแจ่มใสดีแล้วก็มานั่งต่อด้วยความเข้าใจ อย่าไปติดกับความสงบตรงนั้น 

เมื่อเกิดอะไรขึ้นแล้วก็แล้วไป อย่าไปหวาดหวั่นหรือกังวลกับปรากฏการณ์ตรงนั้น เพราะตอนนั้นมันเหมือนกับวูบไป ได้ตื่นขึ้นมาก็ดีแล้ว ตื่นแล้วก็นั่งต่อไป ความตกใจเกิดขึ้นก็เป็นธรรมดาเพราะเราไม่เคยเจอ ไม่เคยพบ อาจมีความลังเลสงสัยก็เห็นว่ามันมีความลังเลสงสัย แล้วก็กลับมานั่งต่อไปเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะสิ่งเหล่านั้นมันจบไปแล้ว 

แต่ถ้าทำทีไรเป็นแบบนี้ทุกที ไม่ไปไหนเสียที ก็อย่านั่งนาน พาตัวไปเดินซะ ตอนที่กลับมานั่งใหม่แล้วหากมีอาการเพ่ง เราก็จะรู้ความหนัก ๆ ของมัน เพราะมันอาจมีความระวัง ความกลัว เดี๋ยวเราก็เห็น เช่น คอยระวังว่านั่งแล้วเดี๋ยวจะเป็นแบบเดิมมั้ยเนี่ย ฯลฯ เราก็จะเห็นความดิ้นรนนั้น เมื่อเห็นก็ไม่ไปยึดมั่นถือมั่น ก็ปล่อยไป นี่คือการที่เรามาภาวนาไปและความรับรู้โดยความละเอียดละออแบบนี้มันดีขึ้นเรื่อย ๆ และการมาเสวนา มาพูดคุยแลกเปลี่ยน จะทำให้ไม่จมติดหล่ม ไม่วนเวียนอยู่กับอาการเดิม ทำให้เดินต่อไปได้ นี่คือการมีกัลยาณมิตร (41.24) 

เราเป็นอย่างไรก็รู้ว่าเป็นอย่างนั้น เพ่งก็รู้ว่าเพ่ง ถ้าเพ่งแล้วไม่รู้ก็จะเหนื่อย เผลอก็รู้ว่าเผลอ มันห้ามไม่ได้ ห้ามเพ่งห้ามเผลอไม่ได้ เพ่งหรือเผลอก็ไม่ใช่ของผิด ไม่ใช่ของต้องห้าม ไม่ใช่อะไรที่จะต้องหนีให้ไกล เราไม่หนีอะไรเลย เพ่งก็รู้ว่าเพ่ง เผลอก็รู้ว่าเผลอ อยากได้ก็รู้ว่าอยากได้ ท่าทีต่อความเพ่งความเผลอจะเริ่มมีเราไปอยู่ในนั้นน้อยลงแล้ว เป็นเรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของปรากฏการณ์ทางจิตใจ ผู้รู้ผู้ดูดูด้วยจิตใจที่เป็นกลางมากขึ้นเรื่อย ๆ เพ่งก็ไม่มีปัญหา เผลอก็ไม่มีปัญหา มันไม่มีปัญหาของใครเลย ไม่มีใครเป็นเจ้าของจะไปมีปัญหาทำไป 

แต่ถ้าเพ่งแล้วไม่รู้ กลับคิดไปว่ามันใช่นี่สิ หรือเผลอแล้วไม่รู้แล้วก็ล่องลอยไป ก็ไม่เกิดสติระลึกเท่าทันความเพ่งความเผลอ ไม่ได้บอกให้กลัวกิเลสหรือตัณหาราคะอะไร เพราะถ้ามาด้วยความไม่อยากแล้วจะลำบาก ภาระมันจะเยอะ เพราะเราก็จะยังคงมีทั้งเพ่งทั้งเผลอทั้งฟุ้งซ่าน นิวรณ์มาครบชุดอยู่แล้ว เราไม่ได้ต้องการจะหนีมัน แต่เราต้อนรับได้ว่า “มาเลย ๆ มากระตุ้นภูมิคุ้มกันเรา” เป็นภูมิคุ้มกันของความตั้งมั่นเป็นกลางต่อสิ่งที่มากระทบ 

เหมือนการฉีดวัคซีน เราฉีดวัคซีนครบแล้ว เชื้อโรคโควิด-19 หายไปจากโลกนี้มั้ย ก็ไม่ โควิดยังอยู่ในบรรยากาศ ยังคงเข้าจมูก ยังคงเข้ากระแสเลือด แต่ภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนนี้จัดการเชื้อโรคได้ จิตก็เหมือนกัน กิเลสตัณหาราคะหรือความโลภโกรธหลงยังคงปรากฏ หรือเผลอ ๆ บางทีก็ยังเข้ามาบงการอยู่นิดหน่อย แต่ด้วยกำลังของสติที่ระลึกนึกได้ ด้วยกำลังของปัญญาที่ตัดขาดไปได้บ้าง เชื้อโรคจะไม่ลุกลามไปเยอะ ไม่เกิดอาการข้ามวันข้ามคืน อาจยังโกรธอยู่ชั่วโมงหนึ่งหรือ 3 นาที 5 นาที ไม่จมความเบื่อ ความเหงา ความเซ็ง ไม่งอนนาน ไม่วีนเหวี่ยงมาก ยังมีอยู่แต่น้อยลง นี่คือการที่วัคซีนทำให้ความรุนแรงของโรคน้อยลง วัคซีนทางใจทำให้ความรุนแรงของไวรัสทางใจออกฤทธิ์น้อยลง แม้ยังติดเชื้ออยู่ 

ขอให้เข้าใจให้ถูกว่า คนมีภูมิคุ้มกันทางจิตไม่ได้หมายถึงคนที่ปลอดเชื้อ เราไม่มีทางทำให้ปลอดเชื้อ เพราะเชื้อเป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยยังมีอยู่ เรายังไม่บรรลุอรหันต์ ยังไม่ขาดจากมิติของความปรุงแต่ง ก็ย่อมยังมีเชื้ออยู่ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ก็วางใจได้ (44.35) 

ถาม: ถ้าช่วงไหนเห็นอะไรก็ดับไปหมด ยังไม่ทันรู้ว่าเห็นอะไร ต้องทำอย่างไรต่อไหม

เห็นอะไรก็ดับก็เป็นอย่างนั้น อย่าไปยุ่งกับมัน ก็ทำไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องไปยึดถืออะไรทั้งนั้น ก็แค่รู้ไป ทุกอย่างล้วนแต่เป็นสิ่งที่ปรากฏ ให้เห็นโดยเป็นปรากฏการณ์ ไม่ไปยุ่งกับปรากฏการณ์ใด ๆ แล้วเห็นความเป็นไป 

สิ่งที่ต้องระวังคือว่า บางคนไปกำหนดไว้ล่วงหน้า เรียกว่า ไปท่อง ไปกล่อมเสียก่อน แล้วมันดับไปด้วยความคิดด้วยอะไรบางอย่าง อันนี้อาจยากนิดหน่อย ชวนให้สังเกตให้ดีว่าที่เห็นอะไรก็ดับไปหมดนี่ มันอาจเกิดจากความอัตโนมัติที่เราไปใส่ไว้อีกแบบหรือเปล่า ไปใส่เงื่อนไขบางอย่างไว้หรือเปล่า การภาวนาเราต้องการให้พ้นจากเงื่อนไข เมื่อไปใส่เงื่อนไขบางอย่างไว้ มันก็อาจดับด้วยการกล่อมแบบนั้น ไม่ได้ดับด้วยการเกิดปัญญา 

หลักง่าย ๆ คือ ไม่ว่าเห็นอะไรเกิดขึ้น ก็ไม่ไปวุ่นวายกับอะไรทั้งนั้น เห็นว่ามันเป็นภาวะที่ปรากฏ แล้วก็นั่งต่อไป ถ้ามันอยู่แค่นี้ที่ว่ามันดับไป แต่ไม่เห็นเหตุปัจจัย ก็จะมาถึงทางตันนิดหน่อย เพราะเป้าหมายเราต้องการให้รู้เหตุของการปรากฏ รู้เหตุที่ทำให้เกิดเวทนา และรู้เหตุที่ทำให้เวทนาดับไป ซึ่งโดยปกติเหตุที่ทำให้เกิดเวทนาก็จะเป็นอโยนิโสมนสิการคือใส่ใจไม่ถูกต้อง ไปยึดว่าเป็นเรา ไปยึดว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นของน่ารักน่าใคร่ เป็นของเที่ยงถาวร ส่วนใหญ่มักมีอันนี้เป็นพื้นฐาน ทำให้ไม่สว่าง ไม่จบ ทำให้มีภาระค้างคาใจเพราะมนสิการไม่ถูกต้อง แล้วเมื่อเกิดความสงสัยก็วางใจกับความสงสัยไม่ถูกต้อง กลายเป็นเราสงสัย เมื่อรู้ว่าสงสัย เหตุของความสงสัยคืออโยนิโสมนสิการ เพราะไปยึดว่ามันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่มันไม่เป็นแบบที่คิด มีเรากับมีมัน มีเรามองอย่างและมันเป็นอีกอย่าง ไม่เห็นตรงกัน ก็เลยเกิดความสงสัย 

เมื่อเข้าใจอย่างนี้ ก็อ๋อ..เหตุของความสงสัยคือการไปยึดถือว่าเป็นตัวตน ก็ค่อย ๆ สังเกตไป ความลังเลสงสัยที่มีก็ไม่เป็นไร กล้า ๆ ไม่ต้องกลัวผิดกลัวถูก รู้ไปแบบนั้น ที่สำคัญคือ เราเห็น เรามองสิ่งนั้นด้วยท่าทีอะไร ถ้าเรามนสิการถูกต้อง เราจะมองมันด้วยความไม่น่ายึดถืออะไร มันจะดับไปด้วยเหตุของการไม่มีอุปาทานยึดมั่น 

(เสริมจากท่านนโม) ที่ว่าเห็นแล้วดับ ดับ ดับไป อันนั้นไม่ต้องไปสนใจ แต่ที่ยังมีคำถามว่าอะไรดับ แปลว่าสภาวะมันดับแต่ความรู้สึกยังดับไม่จริง เพราะยังมีตัวถามอยู่ แต่เราไม่เห็นไอ้ตัวถามนั่น เราไปมองผลที่มันเป็นอดีตไปแล้ว แต่ช่วงนั้น timeline ในจิตมันค่อนข้างละเอียดยิบ ๆ ๆ ๆ แต่การตามสภาวะที่เกิดขึ้นจริงยังตามไม่ทัน มนุษย์เราคุ้นชินกับการใช้ความคิดอย่างนี้ มันก็จะพยายามหา พยายามตั้งชื่อนู่นนี่นั่นไปกับมัน สุดท้ายเลยกลายเป็นว่าเราถอยกลับมาที่อดีต แต่ถ้าเกิดเห็นว่ามันดับ ดับ ดับ ดับ แล้วมันไม่มีความคิดอะไรเข้ามาอีก อันนั้นเป็นการเห็นการดับจริง การที่เราเห็นมันดับ ดับ ดับ ไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องไปพยายามตั้งชื่อหรือสงสัย มันก็จะปล่อยให้ดับไป ปล่อยผ่านไปเรื่อย ๆ โดยที่จิตไม่ไปตั้งจับอยู่ตรงนั้น สักพักมันก็จะดับหมดไป ทีนี้ ที่ถามว่าจะทำอะไรต่อ มันมีอย่างเดียวที่เหลืออยู่ ก็คือตัวที่เห็นมันดับน่ะแหละ มันยังมีอยู่ ถ้ามันตั้งมั่นพอ ก็ใช้คำธรรมะมาอธิบายจากในโพชฌงค์ ก็คือธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือวกกลับมาพิจารณาไอ้ตัวที่มันมองเห็นอยู่ ที่เป็นตากล้องที่มีเลนส์มองอยู่ แล้วสุดท้ายก็คือ ไม่เหลืออะไรให้ถ่ายรูปแล้ว มีแต่กล้องที่ยังอยู่ ทีนี้ก็ได้หันกลับไปดูกล้องแล้ว คนที่อยู่ข้างหลังกล้องตอนนั้นสภาวะเป็นอย่างไร กล้าพอที่จะกลับไปเห็นตรงนั้นหรือเปล่า แล้วพิจารณาจัง ๆ ว่าตัวตน อัตตาของเรา สภาวะมันเป็นอย่างไร เพราะมีอย่างเดียวที่เหลือให้มอง ก่อนหน้านี้ซัดส่ายไปมองอย่างอื่นอยู่ มันเป็นช่วงที่จิตมีความคมและสามารถยกมาพิจารณาได้ 

ถาม: เมื่อเสร็จจากหน้าที่การงาน ต้องการพักผ่อน ใจอยากดูหนัง อยากฟังเพลง ถ้าไปดูหนังฟังเพลง แสดงว่าไหลตามความอยาก ตามกิเลสใช่ไหม เราควรปฏิบัติอย่างไร เวลาทำงานต้องคิดต้องส่งจิตออกนอก แปลว่าเราไม่ได้เจริญสติใช่ไหม

คำถามแรก เสร็จงานก็ต้องพักผ่อนบ้าง ดูหนังฟังเพลงร้องคาราโอเกะก็ได้ เป็นเวลาที่จะพักผ่อนก็พักผ่อน ให้รู้จักกาลเทศะ เรายังเป็นฆราวาส เป็นปุถุชนธรรมดา มีการพักผ่อนก็ไม่เป็นไร แค่ไม่ทำจนเกินเวลา ไม่หลับไม่นอน 

ประเด็นสำคัญเวลาที่เราภาวนาคือ อย่าตรวจสอบตัวเองเยอะ ตรวจสอบว่าเราผิดไหม เราไหลตามกิเลสหรือเปล่า ก็ใช่ ก็ไม่ได้ผิดอะไร อาจกำหนดเวลาตัวเองไว้ว่าจะดูหนังฟังเพลงถึงกี่โมง ถ้าเราดูหนังฟังเพลงไปแล้วรู้สึกผิดไป อย่างนี้ไม่ได้ ลำบาก ชวนดูว่าถ้าเราดูหนังฟังเพลงไปแล้วมันไม่เพราะ ไม่ถูกใจ หรือเวลาลูกมากวนแล้วเราโมโห ชวนให้เราเห็นโทสะนั้น มาจัดการกับโทสะนั้น หรือฟังเพลงไปเพราะ ๆ หันมาเห็นงานกองเบ้อเร่อ ก็เริ่มลังเลว่าจะเอายังไงดี งานก็ต้องทำ เพลงก็อยากฟัง เห็นอาการไหลของใจ ก็เกิดการตัดใจ วางเพลงที่ฟังก่อนแล้วไปทำงาน อย่างนี้เรียกว่าบริหารเวลาถูกต้อง ไม่หลงตามกิเลส

พูดถึงกิเลส เพื่อไม่ให้ลำบากพวกเรานัก ขอบอกว่ากิเลสนิวรณ์เอาไว้ดูตอนภาวนาในรูปแบบซึ่งเป็นขณะที่เราตั้งใจจะปฏิบัติภาวนา จะได้ไม่มีภาระกับชีวิต เพราะในขณะที่เราไม่ตั้งใจจะปฏิบัติ เราก็ไม่ต้องเรียกอาการเหล่านั้นว่านิวรณ์ เพราะมันไม่ได้มาขวางกั้นกระบวนการภาวนา เอาแค่นี้ก็พอ 

อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองเยอะ สิ่งที่ต้องระวังสำหรับนักปฏิบัติคือ กลัวผิด รู้สึกไม่ดีว่าเราไหลตามกิเลสหรือเปล่า ก็ต้องถามกลับว่าทำไมคำถามนี้ถึงปรากฏ เบื้องลึกของคำถามพวกนี้มาจากอะไร มาจากการเพ่งเล็งอยากได้ หรือมาจากมาตรฐานกฎเกณฑ์บางอย่าง ธงบางอย่างที่ตั้งไว้แรงไปหรือเปล่า จะคาดคั้นตัวเองมากไป เราจะตึงไปหรือเปล่า ถือเป็นการปฏิบัติธรรมยังไม่สมควรแก่ธรรม เหมือนเรากำลังอยู่อนุบาล แต่เราจะเอาระดับปริญญาโท ปริญญาเอกมาวัดตัวเรา นั่นจะทำให้เราเกิด conflict เกิดความยุ่งยากมากขึ้น เราภาวนาแล้วชีวิตควรจะผ่อนคลายขึ้น (54.58)

ส่วนคำถามเรื่องเวลาทำงานต้องใช้ความคิด จิตส่งออก ก็เป็นเรื่องปกติ ถ้ารู้ว่าจิตเราส่งออกนอกก็กลับมาทำงาน แค่นั้นเอง ถ้าจิตไปอีก นึกได้ก็กลับมา นึกได้ช้าบ้างเร็วบ้าง บางวันนึกได้เร็วบางวันนึกได้ช้า ก็จบแค่นี้ นี่เรียกว่าเจริญสติในชีวิตประจำวัน 

จะเห็นว่า เรามีโหมดของการตัดสิน ประเมิน ต้องการบทสรุปว่าผิดหรือถูก ให้กลับมาเห็นตรงนี้ก่อน เพราะถ้าไม่ข้ามตรงนี้เราจะมีคำถามอย่างนี้อีกเยอะเลย จะลำบากกับคำถามว่าอย่างนี้แปลว่าอะไร อย่างนั้นคือใช่หรือไม่ เพราะเราเกิดความไม่มั่นใจ ความกลัวจะผิด กลัวหลง กลัวไม่ดี ซึ่งชวนให้กลับมาเห็นตรงนี้ด้วยว่าเราปฏิบัติโดยมีพื้นฐานของความกลัวเป็นแรงขับ ถ้าเห็นตรงนี้จะหลุดเป็นสเต็ป แต่ถ้าไม่เห็นจะเหนื่อย เรื่องนี้อาจไม่ได้เป็นแบบนี้ทุกคน แต่ถ้าเราเห็นว่าเรากำลังต้องการหาบทสรุปว่าตกลงเราเป็นยังไง เราเจริญสติมั้ย เราทำถูกมั้ย จะมีคำพูดเหล่านี้อยู่ แสดงถึงความลังเลสงสัยเยอะ เห็นตรงนี้ก่อนที่จะพยายามไปหาผลสรุปว่าใช่ไม่ใช่ ยิ่งถ้าถามแล้วบางคนบอกว่าใช่ บางคนบอกว่าไม่ใช่ ก็จะยิ่งสับสนอีก ทำให้ภาระมาเยอะเลย จบเป็นจบ ไม่ประเมิน ไม่หาบทสรุป จิตส่งนอกก็รู้แล้วกลับมาก็จบแล้ว (56.59) 

ถาม: ปัจจุบันทำงานเป็นเซลล์ เวลาเจอสถานการณ์คับขัน บางทีเราต้องมุสาออกไป เวลาที่มุสาบางทีเราก็รู้ทันแต่ก็จำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ตรงหน้า พอมุสาแล้วบางทีก็รู้สึกผิด ทันบ้างไม่ทันบ้าง อาจารย์มีคำแนะนำอย่างไรกับคนที่ต้องทำอาชีพอย่างนี้ 

เบื้องต้น เรื่องเศร้า ๆ เรื่องเครียด ๆ เรื่องเศร้าหมองในอดีตไม่ควรคำนึง ความผิดพลาดที่ผ่านมาในอดีตไม่ควรนำมาทำให้จิตเศร้าหมอง จบแล้วก็จบไป ที่ทำได้คือ ต่อไปเราจะทำอย่างไร มีเทคนิคการสื่อสารหลายอย่าง ถ้าเป็นด้วยอาชีพ ขึ้นกับเจตนา เจตนาเราต้องการขายของด้วยอาชีพ แต่เราไม่ได้มีเจตนาหลอกลวง ข้อมูลบางอย่างเราไม่ได้บอกหรือเราบอกเกินความเป็นจริง แต่เราไม่ได้เจตนาที่จะหลอกลวง แล้วเราก็ไปฝึกเรียนรู้วิธีที่จะสัมมาวาจา ว่าเราจะสื่อสารอย่างไรที่จะไม่ปิดบังข้อมูลและไม่ได้ทำให้สินค้าเราต้องเสียหาย มันมีเทคนิควิธีการที่เราค่อย ๆ ศึกษาไปได้ 

ระหว่าได้งนี้เรายังทำได้ไม่สมบูรณ์แบบ ยังต้องฝึกฝนอยู่ สติปัญญาเรายังไม่มั่นคงเพียงพอที่จะมีสัมมาวาจาได้ตลอด เว้นเสียแต่ว่าบางอย่างที่จะพูดให้ถูกต้องไม่ได้ ก็อาจเงียบและเลี่ยงไป นั่นก็ถือเป็นสัมมาวาจาแล้ว แต่หากถึงที่สุดที่มันจำเป็นด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากทำไปแล้วก็จบ เผลอไปคิดแล้วเสียใจก็รู้ว่าเป็นความเผลอไปคิด มันห้ามไม่ได้ มันอาจมาเป็นลูกโซ่ เผลอไปคิดแล้ว มันอดไม่ ก็รับรู้ว่ามันอดไม่ได้ เราอาจมองว่าเรามาปฏิบัติธรรมแต่ก็ยังเผลออยู่ มันก็แค่ความเผลอ ไม่ใช่เรา เป็นจิตที่ยังไม่ค่อยมั่นคง มีเหตุจำเป็นหลาย ๆ อย่างที่เรายังต่อสู้กับการทำมาหากิน กับเหตุผลต่าง ๆ ในชีวิต ก็ขอให้เข้าใจ 

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าฟังจบแล้วจะไม่มีความคิดอย่างนั้น ๆ อีก ยังคงมีมาก็เข้าใจมัน แล้วก็ไม่มานั่งนอนซึม หรือจะไปขายของทีก็เกิดความกลัวขึ้นมาว่า วันนี้เราต้องไปโกหกอีกแล้ว อย่าเลย อย่างนั้นเยอะไป ให้ไปทำงานด้วยใจมั่นคง พร้อม ใส่ใจว่าถ้าจะพูดอะไรเราจะพูดความจริงให้มากที่สุด ถ้าเลี่ยงได้จะเลี่ยง ถ้าเลี่ยงไม่ได้เพราะมันเป็นสูตร เป็นวิถี ก็ค่อยมาดูว่าเราจะอยู่กับมันอย่างไร ใจเราจะได้ไม่หดหู่เศร้าหมอง (1:01:17) 

ธรรมะควรจะทำให้ชีวิตเราอยู่ง่ายขึ้น และโปร่ง เบา สบาย เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นน้อยลง 

ถาม: เราเป็นศาสนิกของศาสนาอื่นจะสามารถเข้าใจการภาวนาที่อาจารย์อธิบายอย่างไร เพื่อจะปฏิบัติตามแนวทางของศาสนาตัวเองได้ 

แก่นที่คุยกันเป็นเรื่องศาสตร์ของจิต เป็น consciousness science ทำให้เราเรียนรู้ปรากฏการณ์ที่ว่า เรารู้นั่น รู้นี่ เห็นนั่น เห็นนี่ แต่ที่จริงแล้วเนื้อแท้คือไม่มีอะไร เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดจากกระบวนการของจิตใจ เปรียบเหมือนคอมพิวเตอร์ที่เราพิมพ์คีย์บอร์ด แล้วก็ออกมาเป็นตัวหนังสือ เป็นนู่นเป็นนี่ 

เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการทางจิต ถ้าเราไปจริงจังกับกระบวนการมาก ไปยึดมันเป็นจริงเป็นจัง คาดการณ์อย่างโน้นอย่างนี้ เราก็จะลำบาก ดิ้นรน เสียอกเสียใจกันเยอะ ฉะนั้น เราก็ใช้ชีวิตอยู่กับมันด้วยความเข้าใจว่าอย่าไปจริงจังอะไรกับมันเยอะนะ ของมันมาตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นเพราะเราเป็นคนอย่างนี้อย่างนั้น ไม่ใช่ ไม่ใช่เป็นเพราะเราหรอก แต่เป็นเพราะสิ่งต่าง ๆ ที่ประกอบกันเข้ามา 

ทีนี้ ถ้ามองเชิงจิตวิทยา การที่เรารู้เท่าทันอารมณ์ความคิด แล้วเราไม่หลงไปโดยอัตโนมัติแล้วทำตามมันไป ก็จะมีคุณูปการมากเลย E.Q. เราก็ดีขึ้น Resilience เราก็ดีขึ้น เช่น เราเผลอไปทำอะไรไม่ดีมาแล้ว เราสามารถวางได้เร็ว รู้ว่ามันเป็นอดีต มันจบไปแล้ว Resilience ได้ว่าอดีตไม่ควรคำนึง เรารู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นความผิดพลาดพลั้งเผลอ เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย อย่างนี้ใจเราก็กลับมาเป็นปกติตั้งมั่น ตามศัพท์ภาษาอังกฤษสมัยใหม่ว่า Resilience 

ส่วน E.Q. คือการที่คนเรามีความสามารถในการ regulate หรือจัดการอารมณ์ความคิดตัวเองอย่างเหมาะสม มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นดี มีความเห็นอกเห็นใจ จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นดีได้ก็ด้วยการตระหนักรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ก็คือเป็นคนที่บริหารตัวเองได้ บริหารอารมณ์ตัวเองได้ แค่นี้ก็เป็นคุณูปการเยอะแล้ว 

แต่ที่เรามาคุยกันและที่บางคนถามประเด็นที่อาจไปลึก ๆ ถ้าทิศทางตรง เป้าหมายสุดท้ายตรงกันแบบนี้ ก็จะปฏิบัติได้ไม่ยาก ไม่มีภาระเยอะ เมื่อเราฝึกฝนไปด้วยท่าทีแบบนี้ ผลที่เกิดขึ้นคือ ชีวิตประจำวันเราจะจมกับอารมณ์น้อยลง อดีตที่ผ่านไปแล้วจะครอบงำใจเราได้แป๊บเดียว มันอาจมาเยี่ยมใหม่อยู่เรื่อย ๆ แต่เราก็รู้ทันมัน ไม่คุยกับมันเยอะ ความวกวนฟุ้งซ่านสับสนกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่จบลงไปแล้วจะสั้นลง 

ไวรัสทางใจอาจยังมีอยู่ แต่กระทบเราน้อยลง ความถี่อาจยังมีแต่มันก็ไม่อยู่กับเรานาน แล้วเราก็เห็นได้ว่าช่วงไหนจิตตก ช่วงไหนใจไม่มั่นคง ช่วงไหนร่างกายไม่สบาย จิตก็ไปตามร่างกายด้วย เรื่องที่ละไปแล้วก็กลับมาคิดใหม่ ก็เข้าใจได้ว่าร่างกายอ่อนแอ จิตใจไม่ค่อยดี ธาตุไฟก็แปรปรวนไปตามธาตุขันธ์ด้วย ไม่ใช่ว่าเราแย่ลง แต่มันก็เป็นเพราะบางครั้งก็ได้ บางครั้งก็ไม่ได้ มันเป็นเรื่องของเหตุปัจจัย การยึดถือตัวตนน้อยลง

บางคนอาจมีคำถามว่า ทำอย่างนี้แล้วเราจะไม่พัฒนาหรือเปล่า ตอบว่าการฝึกฝนอย่างนี้แหละคือการพัฒนา เมื่อความยึดถือน้อยลง อะไร ๆ มันจะเป็นธรรมชาติ
ธรรมชาติพร้อมอยู่แล้ว ธรรมชาติทำงานด้วยความเป็นปกติอยู่แล้ว เนื้อหา หลักการ เหตุผล คำสอนที่เราเรียนมาก็อยู่ในหัวเราอยู่แล้ว และสิ่งเหล่านั้นจะโผล่มาเตือนเราได้ถูกจังหวะ บางคนบอกว่าคนที่มาฝึกสติ ฝึกสมาธิ สามารถประกอบศาสนกิจในศาสนาของตนได้ดีขึ้นด้วยซ้ำไป 

การฝึกฝนแบบนี้ไม่ใช่การเรียกร้องให้นับถือรูปเคารพหรือศาสดาองค์ใหม่อะไร เรามามองในเรื่องหลักการและวิธีการของศาสตร์ทางจิต อันที่จริง ถ้าไปดูในคัมภีร์ของทุกศาสนาจะเห็นว่ามีเรื่องของการฝึกสติให้ระลึกรู้เท่าทันอยู่ เพราะถ้าไม่มีสติระลึกรู้เท่าทัน ความรักที่แท้จะไม่เกิด คำสอนที่บอกว่าใครตบหน้าเรา ให้เรายื่นหน้าให้ตบ จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะไม่ได้ฝึกฝนที่จิต ที่การปล่อยวางตัวตน 

ความเมตตาอย่างเต็มเปี่ยมก็จะเกิดขึ้นด้วยกระบวนการฝึกฝน และแก่นของการฝึกฝนคือการใช้ศรัทธาเป็นตัวนำ คนที่ศรัทธาไม่ย่อหย่อนเลย ทำตามได้อย่างไม่มีข้อสงสัย ก็จะปฏิบัติไปจนจบได้เหมือนกัน 

นี่เป็นการปฏิบัติในปัจจุบันขณะ ทุกอย่างในปัจจุบันขณะเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม และมันจบไปเป็นขณะ ๆ ไป นี่ไม่ใช่เรื่องของความรู้ที่เป็นก้อน ๆ หลายครั้งที่ความรู้ที่เรารู้มาหายไป ข้อความดี ๆ คำสอนเตือนใจดี ๆ หายไปหมด ดังนั้น เราจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมาเรียนรู้เรื่องเหตุผลหรือข้อความดี ๆ เพราะเรามีเยอะอยู่แล้ว แต่เวลาจิตตก ของขึ้น เวลามีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น เราลืมสิ่งเหล่านั้นไปหมด ตอนนั้นมีแต่ฉันที่จะเอาอย่างเดียว ทำอย่างไรที่จะให้มีสติเท่าทันการจะเอาของเรา รู้เท่าทันความยึดถือที่เป็นในตอนนั้น เพื่อจะได้คลาย ณ การปฏิบัติในขณะนั้น 

หมวดหมู่
Uncategorized

ภูมิคุ้มกันทางจิต

ภูมิคุ้มกันทางจิต (Mental Immunity)

จิตที่มีภูมิคุ้มกันดีคือ จิตที่ตั้งมั่นไม่หลงไปกับความคิด ความรู้สึก จิตจะมีภูมิคุ้มกันได้ต้องผ่านการเรียนรู้ ฝึกฝน กระตุ้นภูมิ

การฉีควัคซีนต้องทำให้ร่างกายรู้จักรูปร่างหน้าตาของเชื้อโรคแล้วสร้างกลไกการป้องกันขึ้นภายในร่างกาย
เวลาที่มีเชื้อโรคที่ร่างกายรู้จักแล้วรุกล้ำเข้าสู่ร่างกาย
กลไกการป้องกันที่พัฒนาไว้ก่อนแล้วก็ทำงาน
ป้องกันการขยายตัวของเชื้อโรค จับเชื้อโรคไปทำลาย
เวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันก็จะเริ่มตก ต้องมีการฉีดวัคซีนซ้ำเพื่อกระตุ้นภูมิ

ภูมิคุ้มกันทางจิตก็ทำนองเดียวกัน เริ่มต้นด้วยทำให้จิตมีความรู้จักคุ้นเคยกับเชื้อโรคหรือไวรัสทางใจซึ่งได้แก่ ความหงุดหงิด ฟุ้งซ่าน วิตกกังวล ลังเลใจ กลัว เบื่อเหงา ท้อแท้ ฯลฯ (กิเลส นิวรณ์)
เมื่อรู้จัก จดจำหน้าตาได้แม่นแล้ว เวลาที่มีเชื้อโรค (อารมณ์ ความคิด) ผ่านมาทางใจก็จะเกิดสติระลึกได้ว่า มีเชื้อโรคเข้ามา มันเป็นเพียงวัตถุทางใจ (mental object) เป็นของไม่มีสาระ สร้างภาระให้กับจิตใจ หากเผลอไปเอามาใส่ใจจะเป็นโทษ ทำให้จิตตก ไม่มั่นคง อ่อนแอ หวั่นไหวได้ง่าย
เมื่อระลึกได้ก็สามารถวางใจ ไม่ใส่ใจ กลับมาทำงานดำเนินชีวิตตามปกติต่อไป ไม่หลงไปกับอารมณ์ กับความคิด

คนที่มีภูมิคุ้มกันทางจิตดีจึงหมายถึง คนที่มีจิตมั่นคงไม่หลงไปกับวัตถุทางใจ ไม่ใช่ปราศจากอารมณ์ ความคิดเข้ามากระทบจิต ตรงกันข้าม ยังมีความกลัว ความกังวล ควาหงุดหงิด โกรธ ฟุ้งซ่าน ฯลฯ ปรากฏอยู่ แต่ส่งผลกระทบต่อจิตใจน้อยลง

คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแต่ร่างกายจัดการได้ฉันใด คนที่มีภูมิคุ้มกันทางจิตดี มีจิตที่เข้มแข็งก็จัดการกับอารมณ์ความคิดได้ฉันนั้น ไม่ได้แปลจะไม่มีความคิด ไม่มีอารมณ์และความรู้สึก

เมื่อทำความเข้าใจให้ถูกต้องแล้วการกระตุ้นภูมิคุ้มกันทางจิตก็จะเป็นเรื่องง่ายมาก มีตัวกระตุ้นภูมิคือมีอารมณ์ความคิดทั้งวันไม่ต้องวิ่งหาเหมือนวัคซีนทางกาย การมีสติระลึกได้แต่ละครั้งก็เหมือนภูมิได้รับการกระตุ้น แต่ถ้าเผลอ ถ้าหลง ก็กลายเป็นปล่อยให้เชื้อเข้าสู่จิตใจ เกิดอาการจิตหวั่นไหวไหลไปตามอารมณ์ ตามความคิด

#ฝึกสติกระตุ้นภูมิคุ้มกันทางจิต

หมวดหมู่
การฝึกสติ

ภาวนาอย่างไรให้ใจเป็นปกติ

ภาวนาอย่างไร…ให้ใจเป็นปกติ
คำบรรยายโดย รศ. นพ. ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ในโครงการ 15 ปี จิตตปัญญาศึกษา พาใจกลับบ้าน
จัดโดย ทีมอาสากิจกรรมภาวนา 8@Home วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2564 เวลา 20.00-21.20 น.

ใจปกติเป็นอย่างไร

ใจปกติ คือจิตที่มีศีล ไม่มีความบีบคั้นดิ้นรน เป็นกลาง ๆ เป็นใจที่เงียบ ไม่มีความคิดปรุงแต่ง เป็นใจที่มีีสภาพรู้เป็นพื้นฐาน รู้สิ่งที่ปรากฏขึ้นในขณะนั้น แต่เวลารู้ก็มักจะมีความคิด ความปรุงแต่งเป็นอัตโนมัติ ฉะนั้น เบื้องต้นก็มีหลักอยู่ว่า เราห้ามความคิดไม่ได้ แต่เราควรรู้ว่าเราจะมีท่าทีต่อสิ่งที่ปรากฏอย่างไร ไม่ว่า จะเป็นความคิด ความรู้สึก ความหงุดหงิด ความฟุ้งซ่าน ความเบื่อ ความเซ็ง ฯลฯ เรารับรู้ด้วยใจที่เป็นกลางอย่างไร ฝึกใหม่ ๆ ก็ยังไม่กลาง การที่จะทำให้เป็นกลาง เป็นปกติได้ดีขึ้น เราต้องใช้คำว่า “มนสิการ” (โยนิโสมนสิการ) คือใส่ใจ หมายความว่าวางใจโดยการมีมุม มองต่อสิ่งที่ปรากฏให้ถูกต้อง ถูกต้องคือ ถูกตามความเป็นจริง เป็นความจริงที่ได้จากปัญญาตรัสรู้ว่า ของที่ปรากฏนั้น ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น มันแปรเปลี่ยน ท่าทีแบบนี้เป็นท่าทีที่พัฒนาควบคู่ไปกับการภาวนาคือ ท่าทีที่ไม่ยึดถือ เพราะเราบอกได้ว่าสิ่งต่าง ๆ นนั้ ไม่น่ายึดถือ เพราะมัน แปรเปลี่ยน กะเกณฑ์อะไรไม่ได้

เลิกยึดถือ ใจก็เป็นปกติ
การยึดถือที่ว่า หมายถึงความไม่อยากให้มันมา ความอยากให้มันไป ความอยากให้มันมา เหล่านี้เป็นการฝืนกระแสธรรมชาติ เกิด เป็นความดิ้นรนบีบคั้น นั่นคือใจไม่เป็นปกติ ฉะนั้น การวางใจให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ความเป็นไปของสภาวะต่าง ๆ จึงเป็นหลักสำคัญ และเป็นแนวทางการวางใจในการ ปฏิบัติภาวนานี่คือโยนิโสมนสิการให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อไม่ให้มีความดิ้นรนเดือดร้อนใจที่มาจากการวางใจไม่ถูกต้อง เช่น เกิดความสงบแล้วชอบ ก็อยากได้ความสงบ แต่ความสงบมันก็ไม่ได้อยู่กับเรานาน การที่เราไปชอบความสงบ ไปยึดความสงบ ก็เหมือนกับเราขุดหลุมดักตัวเองไว้ เพราะเดี๋ยวความสงบมันหายไป (ตามธรรมชาติของมัน) แล้วเราก็จะเดือดร้อน แต่เมื่อเราฝึก ภาวนา จะสงบก็ได้ ไม่สงบก็ได้ ไม่เดือดร้อน ไม่มีปัญหากับอะไรใด ๆ การภาวนาที่จริง ก็คือเวลาที่เราฝึกฝนในการไม่มีปัญหากับอะไรสักอย่าง ไม่มีปัญหาแม้กระทั่งตอนเราเผลอไปมีปัญหา เมื่อเผลอไป มีปัญหา ก็ไม่มีปัญหากับความเผลอนั้น เป็นการพาใจกลับมาเป็นปกติเป็นขณะ ๆ ไป เราภาวนาเพื่อให้ท่าทีนี้งอกงาม ท่าทีของการไม่เผลอไปกับร่องเดิม ๆ ที่เรามักคุ้นชิน ร่องที่จะเอา จะไม่เอา อยากได้แบบนั้น ไม่ อยากได้แบบนี้ ท่าทีของการมีความอยาก-ไม่อยากตามความพอใจ-ไม่พอใจของเราก็ลดน้อยลง วางใจเป็นกลางได้มากขึ้น

ทักษะพื้นฐาน คือท่าทีที่เป็นกลางต่อทุกสิ่ง
หลักสำคัญคือ เมื่อเรารู้ว่าเราภาวนาเพื่อให้เกิดทักษะ เกิดความเข้มแข็งมั่นคง (ทางจิตใจ) เหมือนการฝึกเล่นกีฬา ที่เรารู้ว่าจะต้อง ฝึกฝนเทคนิคการเล่นขั้นพื้นฐาน เช่น ตีเทนนิสด้วยท่าแบบนี้ ต้องจบั ไม้แบบนี้ จะตีโฟร์แฮนด์ แบคแฮนด์อย่างไร การภาวนาก็คือ การฝึกให้พื้นฐานอย่างนี้มั่นคง ไม่ว่าจะเรียนรู้จากสำนักไหน จะหลับตา สร้างจังหวะ เดิน เคลื่อนไหว ฯลฯ หรือฝึกด้วยวิธไี หน ก็เป็นไปเพื่อการพัฒนาท่าทีต่อสิ่งที่ ปรากฏในใจ สิ่งที่ปรากฏให้ใจเรารับรู้ ไม่ว่าจะเป็นความหงุดหงิด ความฟุ้งซ่าน (อาการทางใจ) ลมหายใจ หรือร่างกายเรา (อาการทางกาย) ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็น Mental Object คือวัตถุทางใจ เราเรียนรู้ที่จะไม่ต้องไปจดั การวัตถุทางใจที่เรารับรู้ ถ้าเปรียบเป็นสมการ [เรา (ตัวรู้) วัตถุทางใจ (สิ่งที่เรารับรู้)] เรากำลังพัฒนาจิตใจ ไม่ใช่เพื่อแก้ไขทางซ้าย ทางขวา หรือ เครื่องหมายลูกศรของสมการนี้ ที่เมื่อก่อนอาจมีพลังงานดูดเข้า ผลักออกตามความพอใจ-ไม่พอใจของเรา แต่เรากำลังพัฒนาให้ ลูกศรนี้เป็นของกลาง ๆ เป็นแค่รู้เฉย ๆ ไม่ต้องมีปฏิกิริยาตอบโต้ ตอบสนอง แต่เป็นช่วงเวลาของการเปิดกว้าง รับรู้ทุกอย่างตาม ความเป็นจริง ไม่ได้เกิดจากความคิด ความมโน ความปรุงแต่ง

ฝึกเท่าทันความเป็นอัตโนมัติที่ใจมักเป็น
ด้วยธรรมชาติที่เราก็มีความคิด ความปรุงแต่งเป็นอัตโนมัติ เราก็ภาวนาเพื่อให้รู้จักความปรุงแต่ง ไมไ่ ด้ห้ามว่าจะเกิดขึ้นไมไ่ ด้ เพียงแต่ฝึกที่จะรู้ให้ละเอียดขึ้น รทู้ ันความปรุงแต่ง รู้ทันความพอใจ รู้ทันความไม่พอใจ ดังนั้น ความพอใจ ความไม่พอใจ ก็ กลายเป็นวตั ถุทางใจอย่างหนึ่งที่เราใช้ฝึกสังเกตให้ละเอียดขึ้นเรื่อย ๆ และเราเป็นกลางกับความพอใจ ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นได้ เรื่อย ๆ เราสามารถวางใจเป็นกลางต่อความเผลอ เผลอไปคดิ เผลอไปหงุดหงิด อะไรก็ตามที่ปรากฏขึ้นในใจ เมื่อไรที่เรารไู้ ด้ ล้วนวางใจเป็น กลางได้ ก็จะไม่มีปัญหากับอะไรที่ปรากฏขึ้นเลย แม้กระทั่งบางครั้งที่เรามีปัญหากับวัตถุทางใจนั้น ๆ เราก็ไม่มีปัญหากับการมีปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย การฝึกฝนแบบนี้มีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่เรามักคุ้นชินกับการทำอะไรที่ต้องได้ ต้องเอา มีผดิ มีถูก ทำแล้วก็กลัวผิด เราชิน อย่างนี้มาตั้งแต่ในระบบการศึกษาแล้ว ว่าต้องทำได้ แต่เราก็เห็นมันโดยเป็นความเคยชิน เป็นความคุ้นชิน เป็นอนุสัย มันไม่ใช่เรา มันเป็นแค่รูปแบบบางอย่างในใจเรา เป็นสัญญาเก่าที่ทำงาน


วางใจเป็นกลางกับทุกปรากฏการณ์
สรุปคือ ไม่ว่าจะไปรู้อะไร สิ่งที่ถูกรู้ ถูกเห็น มีค่าเท่ากัน ก็คือเป็นปรากฏการณ์ให้ได้มอง ได้รู้ และวางใจให้เป็นกลาง และเมื่อใดที่รู้ ว่าใจไม่กลาง ก็เป็นกลางกับความไม่กลางนั้น การปฏิบัติมันก็จะเกิดไปเป็นขณะ ๆ แบบนี้ ฉะนั้น จะทำได้บ้างไม่ได้บ้าง สงบบ้างไม่สงบบ้าง ก็จะไม่เป็นปัญหา เพราะเรามานั่งฝึกไม่ใช่เพื่อเกิด ความสงบ จะเกิด ปัญหาเมื่อเรา อยากสงบแต่มันไม่สงบ แล้วก็เดือดร้อน ความสงบหรือความไม่สงบก็เป็นกลาง ๆ ทั้งคู่ พอเราอยากสงบ ใจก็ผลักความไม่สงบออก ลูกศร (ในสมการ) มีแรงผลักออก แสดงว่าเราไม่เป็นกลางกับความไม่สงบแล้ว ความไม่สงบเป็นปัญหาแล้ว เราจะค่อย ๆ เรียนรู้ว่า ทุกอย่างที่เป็นปัญหามาจากการที่เราใส่ความคิด ใส่มุมมอง หลงไปตามความไม่พอใจ เลยไม่อยากให้มันอยู่ แล้วก็ตั้งคำถามว่า “เมื่อไหร่มันจะไปวะ” เสียงในหัวที่เป็นความคิด ก็พ่วงมาด้วยความปรุงแต่ง แล้วก็กลายเป็นความพอใจ-ไม่ พอใจ แล้วก็จะกลายเป็นความอึดอัดคับข้องเป็นลูกโซ่

อย่าไปยุ่งกับมัน ปรากฏการณ์แบบนั้น ก็เป็นเรื่องปกติ สำคัญที่ว่าเรามองเห็นมันเปน็ เรื่องปกติหรือยัง หรือเรามองมันเป็นความล้มเหลวของตัวเอง ถ้าเรายังมองว่ามันเป็นความล้มเหลว ก็จะรู้สึกว่ายากจัง ที่มันยากก็ เพราะเราเพ่งเล็งอยากได้ เราไม่ได้ภาวนาเพื่อละความพอใจ และความไม่พอใจ ยังอยากได้ความสงบ ความใสปิ๊ง ก็ให้วางใจ ซ้อมไปเรื่อย ๆ ได้บ้างไม่ได้บ้างก็ไม่ใช่ปัญหา เวลามีความคิดในการตัดสินตัวเอง เห็นการตัดสินนั้น เห็นการเพ่งโทษตัวเอง ก็เข้าใจว่าการเพ่งโทษนั้นเป็นสภาวะหนึ่ง ไม่น่าที่จะ ไปยึดมั่นถือมั่นอะไร เป็นกลางกับมัน เพราะมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อะไรก็ล้วนถูกมองแบบนี้ได้ เพราะธรรมทั้งปวงไม่น่ายดึ มั่นถือมั่น เราต้องการทำอย่างนี้ให้มั่นคง ให้สม่ำเสมอ ให้เต็มร้อยมากขึ้น จากที่ตอนนี้ยังไม่เต็มร้อย คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด ไปจัดการกับ object (สิ่งที่ถูกรู้) ว่าต้องไม่โกรธ ต้องไม่คิด อย่าฟุ้งซ่าน คำว่าอย่าฟุ้งซ่านนี่ หมายความวา่ อย่าไปยุ่งกับมัน การปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน คือให้เรารู้สิ่งที่เกิดขึ้นในใจ (ธรรมานุปัสนาสติปัฏฐาน) อย่างเป็นกลาง จิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตไมม่ ีความฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าไม่มีความฟุ้งซ่าน นี่เป็นเรื่องพื้นฐาน เมื่อฝึกสังเกตไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มขยับไปรู้ว่า เหตุของความฟุ้งซ่านคืออะไร เหตุที่ทำให้ความฟุ้งซ่านดับคืออะไร และสดุ ท้ายก็รู้ว่าจะทำ อย่างไรให้ความฟุ้งซ่านดับไป ไม่เกิดขึ้นมาอีก

เส้นทางของศีล-สมาธิ-ปัญญา
ตามหลักเราจะฝึกให้รู้ครบ 5 องค์ แต่แรก ๆ เราก็รู้แค่ 2 องค์ไปก่อนว่ามันมีหรือไม่มี การรู้ทั้ง 5 องค์คือ 1) รู้ว่ามี 2) รู้ว่าไม่มี 3) รู้เหตุ ที่มันเกิด คือจากที่ไม่มีแล้วมันเกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร 4) รู้เหตุที่มันดับ คือจากที่มันมีอยู่แล้วมันดับไปได้เพราะอะไร และสดุท้าย 5) จะทำยังไงให้ความฟุ้งซ่านนั้นไม่เกิดอีก เป็นการดับไม่มีเหลือ ซึ่งเป็นการเจริญอริยมรรค เป็นด่านสุดท้าย เราก็พัฒนาไป ทีละขั้นทีละตอนแบบนี้ ขั้นตอนแรกก็เริ่มจากใจที่ปกติ ใจปกติ คือใจที่มีศีล (ศีลแปลว่า ความปกติ) การทำศีล ให้งอกงาม เป็นการทำศีลภาวนา ใจจะเป็นปกติได้ก็ด้วยการทำสมถะภาวนา ข่ม ๆ ไว้นิดหน่อย จะใช้คำบริกรรมหรือการเคลื่อนไหวก็ตาม ช่วยให้เราจดจ่อมากขึ้น เราก็จะสามารถระงับกิเลส ระงับตัณหาลงได้ ถ้าลึกไปกว่านั้น สมาธิเราแนบแน่นขึ้น สมาธิคือการที่ใจเราอยู่กับอารมณ์หนึ่ง อารมณเ์ดียว ก็เป็นการระงับกิเลสไปชั่วคราว ยังไม่หลุดพ้น ถ้าจะหลุด พ้นก็ต้องเป็นเรื่องการเจริญปัญญาจนกระทั่งเห็นชัดแจ้ง ซึ่งเราก็กำลังเดินอยู่บนทางเดียวกัน ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เจริญ มาแบบนี้ ว่าโดยย่อ ใจที่เป็นปกติ เกิดจากการรู้ทันความไม่ปกติ เมื่อไรที่รู้ ก็วางความไม่ปกติไป วางไป เป็นกลาง (neutral) ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น สภาวะที่ใจเป็นกลางเป็นสภาวะที่ทุกคนรู้ได้ สัมผัสได้ อาจเกิดขึ้นชั่วขณะเดียว แล้วก็เกิดความคิดความสงสัยขึ้น ก็ไม่เป็นไร ฝึกไป นี่คือความเป็นปกติ คือศีล แต่ในขณะที่ฝึกแบบนี้ไม่ใช่เพียงศีลงอกงาม สมาธิก็งอกงาม ปัญญาก็งอกงาม เพราะเรามนสิการถูกต้อง เราวางใจได้ถูก มีปัญญาที่เกิดจากการฟังให้เข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่เที่ยง ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น มันแปรเปลี่ยนได้ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ความเข้าใจแบบนี้ถูกย้ำซ้ำ ๆ เหมือนการฝึกตีเทนนิสซ้ำ ๆ จนสามารถตีได้ในสนามจริง

ลงสนามจริง
เราต้องการภาวนาเพื่อลงสนามจริง ไม่ใช่การภาวนาเพื่อความใสปิ๊งในตอนนั่งภาวนาแต่เวลาอยู่บ้านปล่อยรังสี ปล่อยของเพียบ อยากชวนให้เข้าใจว่า เรานั่ง 10 หรือ 20 นาทีนี่เป็นการซ้อม ทำซ้ำ ๆ ในทักษะพื้นฐานให้เกิดความชำนาญ พอเวลาลงสนามจริง ก็ รวบรวมทุกทักษะมาใช้ ฝึกแบบนี้ที่ทำให้เราค่อย ๆ เกิด ความเป็นอัตโนมัติแบบใหม่ ส่วนความเป็นอัตโนมัติแบบเก่าที่เคย เปรี้ยงปร้าง ใส่คนอื่นก็ถูกยับยั้งลง ถ้าอยากก้าวหน้าเร็ว ๆ ลองตั้งหมุดหมายดูว่า ใจเราชอบมีความผิดปกติอะไรที่ทำให้ เดือดร้อนกับตัวเราเองและคนอื่น เช่น ขี้บ่น ขี้ หงุดหงิด ขี้กลัว ขี้กังวล เราก็ลองมาใส่ใจกับความกลัว ความโกรธ ความเหงา ความเซ็งที่เรามี ฝึกรับรู้ว่ามีความรู้สึกเหล่านเี้ กิดขึ้น ด้วยใจที่เป็นกลาง เป็นเรื่องปกติ มันเป็นเพียงความเหงาที่ปรากฏ ความกลัวที่ปรากฏ ความโกรธที่ปรากฏ ไม่ใช่ว่าทำไมเราเหงา ทำไมเรากลัว ทำไมเราโกรธ คำว่าทำไมค่อย ๆ หายไป อย่างนี้เราจะมีความสามารถในการมองอย่างเป็นกลางมากขึ้นเรื่อย ๆ นี่คือความก้าวหน้า

ภูมิคุ้มกันทางใจ (Mental Immunity) คือความก้าวหน้า
ความก้าวหน้าไม่ใช่การที่ไม่มีความโกรธ ไม่มีความเหงาเกิดขึ้นเลยสบาย ถ้าเป็นอย่างนี้ระวังจะเพี้ยนไป เปรียบเหมือนวัคซีน คนที่ ได้วัคซีนไม่ได้หมายความว่าเชื้อโควิดจะรู้แล้วเลยไม่มาติดคนนั้น ฉีดวัคซีนแล้วก็เจอเชื้อโควิดได้ ดังนั้น ฝึกปฏิบัติภาวนาแล้วก็ไม่ใช่ ว่าจะไม่เจอความขุ่นมัวมาปะทะ ไม่มีกิเลสนิวรณ์มาข้องแวะ ยังคงมีกิเลส มีนิวรณ์มาข้องแวะด้วย แต่เราไม่ไปคุยกับมัน การฝึก ภาวนาเหมือนทำให้เรามีภูมิคุ้มกันใจ ถ้าเป็นตามที่อุปมาแบบนี้ แปลว่าใจมีภูมิคุ้มกัน Mental Immunity เราดีขึ้น

คนใหม่ ๆ ฝึกยังไงดี เริ่มจากฟังให้เข้าใจจริง ๆ ก่อนว่า เราฝึกภาวนาไปเพื่ออะไร ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญที่เรามักจะขาด คนส่วนมากมักภาวนาเพื่อแสวงหาอะไรบางอย่าง ให้ได้อะไรบางอย่างมา การภาวนาหลากหลายวิธีมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาจิต ถนนมีหลายสาย บางสายเป็นการฝึกเพื่อให้จิตสงบ ดิ่งลึก เป็นฌาน ก็ไม่ได้ผิดอะไร การฝึกแบบนั้นก็ได้แบบนั้น ซึ่งต้องใช้ชั่วโมงบิน สูง ก็อาจเหมาะกับการเป็นนักบวช แต่มาอยู่ในชีวิตที่ต้องทำงานทำการได้ยาก เราไม่สามารถเดินจงกรมทั้งวันได้ แต่เราฝึกฝน ภาวนาเพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตทำงานทำการได้โดยที่ความทุกข์บรรเทาลง เราไม่ได้ภาวนาอยู่อีกโลกหนึ่ง พอทำงาน แล้วไปชาร์ตแบตเตรียมจะนิพพานแบบนั้น แล้วพอกลับมาใช้ชีวิตก็ทิ้งวัด ทิ้งการภาวนา อย่างนี้ไม่ได้ การภาวนาเพื่อเอาฌาน เอาความสงบ ก็อาจใกล้ปลายทางแต่มันไม่ใช่ ปลายทางมันเลยฌาน เลยความสงบไปอีก เส้นทางที่จะไปให้จบต้องไปด้วย ความเข้าใจที่ถูกต้อง บางครั้งอาจแวะป้ายความสงบบ้าง ก็ให้รู้ว่านี่เป็นป้ายชั่วคราว ไม่ใช่ที่พักที่ถาวร ไม่ใช่การได้นิพพานแล้ว

สติคือผู้สังเกต

คนใหม่ ๆ ชวนให้ฝึกสติก่อน ให้มีสติเป็นผู้สังเกต มีการระลึกได้มาที่กายที่ใจของตัวเอง สติเป็นเครื่องผูกจิต จิตมีธรรมชาติที่ซนเหมือนลิง มันกระโจนไปทั่ว ถ้าไม่มีอะไรผูกไว้มันกก็ไม่รู้จักตัวเอง เวลาที่ไม่ได้ผูกไว้ ลิงมันไป ทั่วก็เหมือนไม่มี ปัญหาอะไร แต่พอผูกไว้เท่านั้นแหละ ปัญหามาเลย อยู่กับลมหายใจพักหนึ่ง ก็ไปคิด โน่นคิดนี่ เริ่มออกฤทธิ์ให้เห็น ที่จริงมันออกฤทธิ์อย่างนี้อยู่นานแล้ว แต่เราไม่เคยรู้เท่านั้นเอง หลายคนที่พอมาฝึกสติแล้วถึงเห็นว่า เรานี่นางมารร้ายเลย ที่จริงไม่ใช่ เราไม่ได้แย่ลง แค่ว่าเมื่อก่อนเราไม่เห็นมันต่างหาก เชือกที่ผูกคอลิงมันจะมีผลต่อลิงก็ตอนที่มันกระโจนไปสุดเชือก เวลาที่เราฝึกสติเป็นเครื่องผูกจิตก็คล้ายกัน ใหม่ ๆ เชือกเราอาจยาวสักหน่อย จิตเราไปเที่ยวได้ไกลหน่อย ไปไกลถึงอดีต ถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ เต็มไปหมด ไปจนของขึ้น เผลอ ๆ ลิงกระตุกจนเชือกหลุดจากหลัก การที่เชือกหลุดจากหลักเกิดจาก การที่เราไม่ได้หมั่นรู้กาย รู้ใจที่เป็นหลักไว้ การหมั่นรู้กายรู้ใจช่วยเป็นหลักให้จิตใจได้ดี เพื่อที่จิตจะได้ไม่หนีเที่ยวอย่าง เพลิดเพลินอย่างเดิม มันจะได้มีเวลาที่สงบ มีวินัยและได้มาเรียนรู้ทำความรู้จักตัวเอง จากเดิมที่มันไม่เคยรู้จัก ตัวเอง รู้แต่เรื่องชาวบ้าน

เอาลิงมาเข้าโรงเรียน
จิตที่ไม่ได้ฝึกเป็นจิตที่ไม่สงบและไม่เคยรู้จักตัวเอง การเอาลิงมาเข้าโรงเรียน ถ้าเริ่มจากเอามันมาจากป่าแล้วขังไว้ในกรงแคบ ๆ มันคงเฉาตาย ก็ให้มันอยู่ในกรงใหญ่ ๆ ก่อน มันอาจจะอึดอัดบ้างแต่ก็พออยู่ได้ กรงใหญ่ ๆ เปรียบได้กับศีล ศีล 5 ศีล 8 เป็นข้องดเว้น ก็ช่วยให้เดือดร้อนน้อยลง ไม่วุ่นวายใจ แล้วพอมันเชื่องก็ค่อย ๆ เอาเชือกไป ผูกคอมันไว้ ผูกไว้แล้วก็ปล่อยไปก่อน จากนั้นก็ค่อยเอาเชือกผูกกับหลัก ค่อย ๆ ทำไปทีละขั้น

จิตไม่ชอบการถูกบังคับ
จิตก็เช่นกัน จิตไม่ชอบการถูกบีบบังคับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราห้ามการไปทำอะไรที่เข้มข้น บางครั้ง การไปฝึกอะไรที่เข้มข้นด้วยใจที่ไม่รู้สึกเหมือนถูกบังคับ ใจเราเปิดกว้าง ก็ทำได้ แต่ถ้าใจเราอึดอัดคับข้อง เราก็มีหน้าที่คอย สังเกตดูว่าเกิดอะไรขึ้น เช่นไปเข้าคอร์ส 6 วัน 7 วัน ก็อึดอัด โวยวายว่าทำไมเป็นแบบนี้ โวยวายไปเค้าก็ไม่ให้เรากลับ พออยู่ ๆ ไป วันที่ 3-4 ก็ค่อย ๆ สงบลงได้ ยอมได้ก็สงบลง มันวุ่นวายใจตอนยังไม่ยอม ความดื้อดึงยังไม่หมด
ฉะนั้น ฝึกใหม่ ๆ ก็เน้นเรื่องการทำความเห็นให้ถูกต้องก่อน แล้วก็ฝึกสติ ทุกอย่างต้องเริ่มต้นด้วยปัญญาก่อน สัมมาทิฏฐินี่สำคัญ อาศัยการฟังให้เข้าใจ อ่านให้เข้าใจ มีผู้ชี้แนะนิดหน่อย แล้วเมื่อทำถูกต้อง มันจะไม่สร้างภาระในชีวิตประจำวัน บางคนไปเข้าคอรส์ ออกมาแล้วรู้สึกผิดกับตัวเองบ่อย ๆ อย่างนี้ต้องรู้ว่าไม่ใช่แล้ว หลงทางแล้ว แสดงว่ามีอะไรที่เราทำเกินไป ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ลองมาตั้งหลักก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น อาจได้พิจารณาเห็นว่า อ๋อ…เราเป็นแบบนั้นเพราะอยากเป็นคนดี เราไม่ได้มาภาวนาให้เป็น คนดี

ภาวนาละความชั่ว ไม่ใช่เพื่อเป็นคนดี
พูดแบบบ้าน ๆ เรามาภาวนาเพื่อละบาป ละความชั่ว ไม่ใช่เพื่อเป็นคนดี บาปความชั่วคือ ความหลง ความโกรธ ความโลภ ความเหงา ความอิจฉา ความน้อยใจ ฯลฯ ที่เรามีอยู่แล้ว สมมุติว่าเรามีสิ่งเหล่านี้เต็มร้อย ภาวนาแล้วมันลดลงเหลือ 80 นี่ถือว่าดีขึ้น แต่เรามักคาดหวังว่าจะให้มันเป็นศูนย์ ก่นด่าตัวเองว่า ทำไมเข้าวัดแล้วยังเป็นแบบนี้ ลืมไปว่าถ้าไม่เข้าวัด เราอาจเป็นหนักกว่านี้ หรืออย่างน้อย ๆ ตอนที่เราเข้าวัดไป ที่บ้านก็สงบสุขขึ้น นี่ก็เป็นประโยชน์แล้ว แม้เรากลับไปแล้ว เป็นอย่างเดิม เค้าก็มีความสุขกัน ตอนที่เราไม่อยู่ ก็ดีเหมือนกัน

ภาวนาเพื่อตอบโจทย์ชีวิต
เรียนรู้เท่าทันภาระ เพื่อวางภาระทางใจ สำหรับการฝึกใหม่ ๆ ก็แนะนำว่า ให้ฝึกภาวนาเพื่อตอบโจทย์เล็ก ๆ ในชีวิต ให้ชีวิตเบิก บานขึ้น เหงา เบื่อ เซ็ง เศร้า หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ เบาลง ความถี่อาจไม่ลดลง แต่ความลึกของอาการที่เกิดขึ้นน้อยลง ความ ลากยาว หรือความรุนแรงน้อยลง หรือสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ จากเมื่อก่อนที่ผิดแล้วไม่รู้ไม่ชี้ ก็สามารถขอโทษขอโพยได้ เหล่านี้คือความก้าวหน้าทั้งหมด การที่ความไม่ดีไม่งามมันฝังอยู่ในใจเราสั้นลง ถ้าเราตั้งเป้าที่จะเป็นคนดี เราจะรู้สึกว่าหมดแรง เพราะมันห่างไกลมาก เพราะเรายังมีความอิจฉา มีของขึ้น พอเป็นแบบนี้แล้วก็รู้สึกผิดกับตัวเองมาก ที่จริงเราควรเห็นสิ่งเหล่านี้ เพื่อบอกตัวเองว่า เรายังต้องฝึกอยู่อีก ต้องเพียรต่อก็เท่านั้น

ภาวนาเพื่อองค์รวม ไม่ตัดสินถูก-ผิด
เราคุ้นชินกับการตัดสินถูก-ผิด เพราะเราถูกหล่อหลอมอย่างนี้มาตั้งแต่เล็กจนโต เวลาทำอะไรผิดก็ถูกต่อว่า เวลาทำถูกก็ได้รับการ ยกย่องโดยไม่มีคำถามเลย นี่เป็นความผิดพลาดอย่างหนึ่ง ที่สังคมเราไม่ยอมรับและรังเกียจความไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ยอมรับและไม่ เรียนรู้จากความผิดพลาด เน้นตำหนิ ต่อว่า จนมาถึงการทำงานก็ด้วย ผิดพลาดไมได้ ต้องทำถูก ต้องทำได้เท่านั้น เราเลยจะเอาแต่ได้ เอาแต่ถูก พอมาภาวนา เราก็จะเอาแต่ได้ เอาแต่ถูกอีก เรียนรู้จากความผิดไม่เป็น ใจกว้างต่อความผิดไม่ได้ ใจกว้างต่อกิเลส ตัณหา ราคะที่จรเข้ามาก็ไม่ได้เป็นภาระหนักไปอีก
เราภาวนาเพื่อให้ใจกว้างขึ้น เป็น holistic เป็นองค์รวมคือเปิดรับทุกอย่าง ฟุ้งซ่านก็เห็น ไม่ฟุ้งซ่านก็เห็น ทำได้ก็เห็น ทำไม่ได้ก็เห็น รับได้ก็เห็น รับไม่ได้ก็เห็น เห็นโดยความเป็นปรากฏการณ์ อันนี้คือหลักการ ซึ่งก็ไม่ได้หมมายว่าจะต้องทำได้ทันที แต่เราภาวนาเพื่อให้หลักการนี้มั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ ใหม่ ๆ เราก็ยังไม่สามารถเปิดกว้างได้ ก็เลยต้องหาหลักยึดให้ใจอยู่ ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจ การเคลื่อนไหว เพื่อจิตจะได้ไม่เตลิดไปเยอะ การมีหลักยึด ก็เป็นการฝึกให้จิตนิ่ง ๆ มั่นคงรับรู้ ใส่ใจทีละอย่าง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้

ปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้ใจเป็นกลาง
เมื่อเรารู้ทัน รู้จักความไม่ปกติ แล้วโอเคกับความไม่ปกตินั้น เราก็เป็นปกติแล้ว เป็นกลางแล้ว นี่คือการที่เราโอเคกับความไม่โอเค ความไม่เป็นปกติถูกรู้แล้ว และเป็นการรู้ด้วยท่าทีที่ไม่ยึดถือว่าเป็นเรา รู้ด้วยท่าที่เป็นปัจจุบัน ว่าความไม่ปกตินั้นเป็นเหมือนวัตถุทางใจ (mental object) ที่ปรากฏขึ้น มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น การรู้ควรมาเป็นแพคเกจแบบนี้ ถ้าเรารู้และมีความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นแพคเกจแบบนี้ จะไม่มีปัญหาอะไรเลย “เคยทำได้แต่วันนี้ทำไม่ได้” ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะวันนี้ไม่ใช่เมื่อวาน พอมีเสียงแบบนี้ แล้วเรารู้ว่า เรากำลังเอาเมื่อวานมาตัดสิน วันนี้อีกแล้ว อ๋อออออ นี่หลงอดีต วันนี้ก็ส่วนวันนี้ คนเมื่อวานกับคนวันนี้ก็คนละคนกัน ฮอร์โมนก็เปลี่ยน เวลาก็เปลี่ยน เหตุปัจจัยเปลี่ยนเยอะแยะเลย ท่าทีก็เปิดกว้างขึ้น เข้าใจได้ว่า จะไปเอาอะไรกับมันมากมาย เมื่อก่อนเรามักเอาอะไรกับคนอื่นมากมาย เพราะที่จริงเราก็ไม่เห็นว่า เราก็เอาอะไรกับตัวเองมากมายด้วยเหมือนกัน พอได้เรียนรู้ แบบนี้ ได้เห็น ได้วางตัวเองลงได้ ก็หยุดเอาอะไรกับตัวเองลงบ้าง ท่าทีที่ทำไมคนนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จะเพลาลง การรู้ทันความไม่เป็นปกติ ความไม่เป็นปกติมีได้เกิดได้เป็นธรรมดาไม่ได้เป็นปัญหาอะไร อย่าไปรู้สึกท้อแท้ว่าเราไม่ก้าวหน้า การภาวนาไม่มีการสอบ ไม่มีตัดเกรด เราชินกับการตัดเกรด คอยไปเปรียบเทียบว่า คนนั้นถามลึกซึ้ง ขั้นเทพ ทำไมถามดีอย่างนี้ ทำไมเราปฏิบัติมาตั้งนานยังไม่รู้แบบนี้เลย พอนึกได้ว่า เราก็ไม่มีตัว ไม่มีตน เป็นแค่ความคิดความปรุงแต่ง ก็สว่างวาบขึ้นมาครั้งนึง จบไปครั้งนึง หรือบางทีก็ยิ่งปรุงแต่งไปกันใหญ่ ว่าครั้งหน้าเราจะไม่มาแล้ว ขอไปแอบฝึกให้ดีก่อน แล้วค่อยมาส่งการบ้านอาจารย์ แบบเจ๋ง ๆ นี่ ไปกันใหญ่ อย่าหาทำ

ตนเตือนตน ไม่ใช่ตนตำหนิตน
ควรพิจารณาหลักธรรมในระหว่างภาวนาหรือไม่? ถ้าเริ่มฝึกใหม่ ๆ ควรฝึกให้มีสติมั่นคงก่อน เราชินกับการคิดมาเยอะมาก ถ้าไม่ชำนาญ อย่าเพิ่งไปคิดพิจารณามาก มันจะฟุ้ง การคิดพิจารณาในธรรมควรต้องมีสมาธิที่แนบแน่นเป็นฐานก่อน ถ้ามาทางสมถะ ได้ฌาณ คือปฏิบัติจนนิ่ง สงบ แล้วก็ถอยออกมา เห็นความสงบนั้น เห็นว่ามันเป็นของไม่เที่ยง ไม่น่า ยึดมั่นถือมั่น เห็นกายที่นั่งอยู่ก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องมานั่งวิเคราะห์อะไรกันเยอะ แค่วางใจ ใส่ใจหรือมีทัศนะ มุมมองที่ถูกต้องตามความเป็นจริงเรียกว่าโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการเป็นหัวใจสำคัญเป็นหนึ่งในธรรมะหลักที่จะไปสู่การรู้แจ้ง โยนิโสมนสิการจะบอกว่า เราจะวางท่าทีอย่างไรให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เหมือนว่า เรายังทำไม่ได้หรอก แต่มีคนเตือนเรา เช่น อย่าตีเทนนิสท่านี้นะ เราก็ยังทำแบบนั้นไม่ได้ แต่มีคำเตือนมาช่วยให้เราสังเกตตัวเอง มีคนเตือนทีเราก็ตั้งหลักได้ที นี่เรากำลังสร้างกลไกที่จะเตือนตัวเอง เตือนได้บ่อย ๆ มันก็จะเป็นไปโดยธรรมชาติ ตนเตือนตนจะมีอิทธิพลแบบนี้
แต่ที่ทำกันคือ เรามักไม่ค่อยเตือน กระโจนตำหนิติโทษตัวเอง “เป็นอย่างนี้อีกแล้วเหรอ” เพราะเรามีท่าทีที่จะไปเอาทำได้ทำดี ไม่ได้เตือนด้วยการเห็นมันด้วยท่าทีอย่างไร จะเห็นอย่างเป็นกลางได้ก็คือ การเห็นด้วยท่าทีที่ไม่ยึดถือ ที่ไม่น่ายึดถือเพราะ มันไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น นี่ที่เราซ้อมพูดมาตั้งนานแล้ว แม้ยังเข้าไม่ถึงในทุกครั้ง แต่วันไหนที่วางใจดี ๆ ก็เข้าถึงได้บ้าง สว่างขึ้นมาวาบนึง ธรรมทั้งปวงไม่น่ายึดมั่นถือมั่น ไม่ว่าธรรมนั้นจะดีเลิศอย่างไรก็ตาม เราอาจเคยได้สภาวะโล่งแจ่มใส สว่าง แต่มันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นทุกครั้ง ค่อยเป็นค่อยไป จะเร่งให้มันเร็วกว่านี้ได้มั้ย เร่งแล้วมันจะไปถึงที่หมายปลายทาง หรือจะตกข้างทางก็ไม่รู้

ศรัทธาในการทำอย่างสม่ำเสมอ
คำถาม: นั่งสมาธิท่องพุทโธได้นาน ได้นิ่ง ๆ แต่ยังไม่ค่อยพบความหมายอะไร?
ชวนมองว่าอย่างน้อยก็ได้นิ่ง ก็ดีแล้ว การสงบก็ได้เพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกาย ได้สมดุลกับการหลับการนอน และเป็นช่วงที่จิตใจ เป็นกุศล ไม่สร้างภาระ ไม่สร้างบาป ก็ถือเป็นการเจรญิกุศลอย่างยิ่งเลย แต่มันไม่ใช่เพียง 20 นาทีที่เราทำหรอก เหมือนกับการที่เราเข้าฟิตเนส ออกกำลังให้กล้ามเนื้อร่างกายแข็งแรง เลือดลมดีขึ้น หัวใจ สูบฉีดดีขึ้น นี่ก็เหมือนกัน 20 นาทีนั้นจะให้อะไรกับเราบางอย่าง แม้เราจะสัมผัสมันไม่ได้ แต่ครูบาอาจารย์บอกว่าได้ เป็นประโยชน์ ศรัทธาจึงสำคัญ ศรัทธาว่าการทำสม่ำเสมอจะส่งผลบางอย่าง แม้ยังไม่เห็นผลนั้น ก็ลงมือทำไป ทำโดยไม่ใช้ผลลัพธ์มาเป็นตัวตัดสิน ศรัทธาในคำสอนที่บอกว่า ความเพียรสำคัญความสม่ำเสมอสำคัญ แม้จะเหนื่อย จะไม่อยากทำ จะขี้เกียจ ก็ทำ เป็นการเพียรที่จะ ละอกุศล และเพียรที่จะเจริญกุศล แล้วเรามีสัจจะวาจาว่าจะภาวนาทุกวัน 20 นาทีก็ทำ ไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไรขึ้นก็ตามนี่คือ ความสามารถที่จะเอาชนะความคิดหรือเหตุผลดี ๆ ข้ออ้างต่าง ๆ ในการไม่ทำ เช่น วันนี้เหนื่อยมาก เดี๋ยวพรุ่งนี้ชดเชยให้ นี่คือการที่ความคิดมันมีเล่ห์เพทุบายมาก เราก็หลงเชื่อความคิดแบบนั้น เราก็เลยนอน พอรุ่งขึ้นเราก็ไม่ตื่น แล้วก็รู้สึกผิดเข้าไปอีก เวลารู้สึกผิด ใจไม่มั่นคง ใจมีภาระเพิ่ม ก็ภาวนาลำบาก ใจต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดภาระ ต้องรู้ทันว่า เพราะเราคาดหวังแบบนี้จึงวางเงื่อนไขแบบนี้ เป็นการวางเงื่อนไขไปในอนาคตแล้ว เราแน่ใจได้อย่างไรว่าพรุ่งนี้เราจะตื่น แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าพรุ่งนี้ภาวนา 20 นาทีแล้วจะสงบ เราไม่มาฝึกเพื่อเจริญเงื่อนไข อะไรแบบนี้ เราฝึกรู้ทันใจที่หลงไปกับการเผลอไปตั้งเงื่อนไขไว้ เอาเงื่อนไขออก เราสังเกตให้รู้ทันว่านี่เรากำลังเผลอ เผลอไปตั้งเงื่อนไข

อย่าภาวนาเอาผล ให้ภาวนาทำ process (เหตุ)
เหตุของความฟุ้งซ่านมาจากการตั้งธงว่าจะเอา เป็นความคิดเพ่งเล็งอยากได้ ซึ่งไม่ควรทำ ความฟุ้งซ่านมีอยู่ในจิตก็รู้ รู้ว่ามีความฟุ้งซ่าน แล้วก็รู้เหตุว่า อ๋อ เพราะไปตั้งธงไว้ ก็เลยดิ้นรน รู้อย่างนี้แล้วก็วางการตั้งธงเสีย เปิด ใจกว้างยอมรับอย่างที่มันเป็นก็สงบแล้ว พอสงบแล้วก็เผลอ รู้สึกว่าอย่างนี้ดีจังเลย จำไว้ว่าจะทำอย่างนี้อีก ไม่เอา อย่าจ้องจะเอา เพราะถึงทำแบบนี้อีก ก็ไม่ได้แปลว่าจะสงบ หลักที่สำคัญคือ อย่าทำเพื่อเล็งเอาผล แต่ให้้ทำ process คือ process ของการกลับมารู้ทัน กลับมาวางใจเป็นกลาง กลับมา เปิดใจกว้างไม่คาดหวังอะไร ทำให้ชำนาญ ความเท่าทันในกระบวนการของการปรุงแต่งที่เกิดขึ้นต่างหากที่เราเรียนรู้ ไม่ใช่ผลลัพธ์ ความสงบไม่ใช่สิ่งที่เราสั่งให้เกิดได้ ความสงบจะปรากฏขึ้นได้ก็เมื่อเราปฏิบัติไปจนถึงตรงนั้นเอง

ความเพียร ขยันหมั่นฝึก
สิ่งที่เราต้องทำคือ ความเพียร ขยันทำ ขยันฝึก การนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่เฉย ๆ ไม่ฝึก ไม่เกิดผลขึ้นได้ ความเพียรและศรัทธาเป็น สิ่งที่ต้องเพิ่ม ต้องมี แต่ผลคือ ความสงบเป็นสิ่งที่สั่งไม่ได้ เราคุ้นชินกับการสั่งให้เกิดผลที่ต้องการ “หัดใจเย็น ๆ ซะบ้าง” คนเราจะใจเย็นได้อย่างไร ถ้ายังไม่รู้จักอาการใจร้อนเลย เรายังเห็นประโยชน์ของความใจร้อนอยู่เลย คือเห็นว่ามันทำให้งานเสร็จเร็วดีไง งานไม่คั่งค้างไง ก็ดีไม่ใช่เหรอ ก็อาจดีแต่ก็ไม่จำเป็นต้องร้อนขนาดนั้นได้ เร็วได้ ไม่ต้องร้อน ทำงานเร็วแล้วไม่ได้ดั่งใจก็หงุดหงิด เหวี่ยงวีน ในทางกลับกัน เราสามารถทำงานเร็วเหมือนเดิมโดยไม่หงุดหงิดได้ ให้เห็นว่า เราภาวนาเพื่ออะไร สงบก็ดีแล้ว ก็เรียนรู้ต่อไป ภาวนามาตั้งนานมันยังนิ่ง ๆ อยู่ เหมือนไม่ก้าวหน้าเลย ก็ไม่มีปัญหาอะไร ความอยากก้าวหน้าทำให้มีปัญหา ถ้าอยากเรียนรู้ก็ซักถาม พูดคุย ปรึกษาครูบาอาจารย์ มานั่งคุยกันบ้างว่าต้องเติมอะไร มนสิการถูกต้องหรือยัง วางใจถูกต้อง วางท่าทีถูกต้องหรือยัง ก็ขยันอ่าน ขยันฟังจากครูบาอาจารย์

ภาวนาที่เชื่อมโยงกับชีวิต
คำถาม: เราจะสามารถภาวนาระหว่างการทำงานได้หรือไม่?
เปรียบเหมือนนักกีฬาที่มีการฝึกซ้อมกับการแข่งจริง เราก็ทำแบบนั้นคือ เราก็ซ้อมตอนที่เราฝึกภาวนาในรูปแบบ แล้วในตอนทำภารกิจการงาน ซึ่งบางทีเราเรียกว่าการฝึกนอกรูปแบบ ก็เท่าทันใจตัวเอง เสนอว่า ให้ตั้งประเด็นหรือโจทย์สำหรับตัวเองไว้สักหน่อย จะช่วยได้ ด้วยการที่เราจะมีจุดสังเกตกับเรื่องอะไร เช่น เรื่องใจร้อน เรื่องการโวยวาย ขี้บ่น ปฏิเสธไม่เป็น ฯลฯ โดยตั้งเป้าว่า เราจะสังเกตตัวเอง และพยายามไม่ทำแบบเดิม เลือกเอาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เรารู้สึกเดือดร้อนหรือเป็นประเด็นที่เป็นปัญหากับคนอื่น อย่างนี้จะได้ทั้งการภาวนาและได้แก้ปัญหาชีวิตไปในคราวเดียวกัน มีข้อสังเกตว่า คนมักภาวนาอย่างโดด ๆ โดยไม่เชื่อมโยงกับชีวิต ตรงนี้ทำให้ไม่สอดคล้องกัน ภาวนาไปเรื่อย พอมีปัญหาชีวิต ก็ต้องไปหาคอร์สอื่น มาเรียนอีกนี่มันไม่ใช่แล้วนะ
เราสามารถเอาบรรดา “ขี้ ๆ” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นขี้กลัว ขี้กังวล ขี้น้อยใจ ขี้วีน ฯลฯ ลองเลือกมาสักขี้นึง แล้วก็ใส่ใจว่าจะทำงาน กับเรื่องนี้ จดรายละเอียดไว้เป็นบัญชีเลย เมื่อไรก็ตามที่ขี้เหล่าปรากฏขึ้นมา เราก็รู้ทันว่ามันมาแล้ว เห็นอาการขี้อิจฉา เห็นอาการ หมั่นไส้ แล้วก็แค่นั้นมันสักแต่ว่าเป็นอาการที่ปรากฏ ทำอย่างนี้ก็จะเกิดความดีงามในชีวิตประจำวัน เพราะพอเราเห็นอาการเหล่านี้เป็นแค่อาการ เราวางมันลงได้ กลับมายิ้มให้อีกฝ่าย ได้ ความเมตตา ความอ่อนโยนก็พัฒนาร่วมกันไปด้วย อย่าไปภาวนาแบบแยกส่วนออกจากชีวิต ภาวนาต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต กลับมาใช้ชีวิต เวลาไปเรียน ไปเข้าคอรส์ อะไรมา ถาม ตัวเองสักนิดว่า เราจะเอามันกลับไปทำอะไรกับชีวิต ถ้านึกไม่ออกให้ถามครูบาอาจารย์เลย ตรงนี้สำคัญไม่อยากให้เหมือนการมาสปาดีท็อกจิต ชาร์ตแบต แล้วก็เกิดออร่าใสปิ๊ง แต่พอถึงบ้านแล้วภาวนาไม่ได้ ไปไม่เป็น ลูกกวน หมาเห่า แล้วก็อยากกลับวัดอีก ถ้าเป็นการแบ่งแยกอย่างนี้ลำบาก การภาวนาในรูปแบบ ก็เหมือนกับที่นักกีฬาต้องฝึกซ้ำ ๆ ไปยกเวทให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เพราะเวลาลงสนามแข่งต้องทำได้อย่างเป็น อัตโนมัติ เลือกเอาว่าเราจะฝึกภาวนาในรูปแบบอย่างไร ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ก็จะเกิดกำลังใจ ฝึกแล้วชีวิตเราผ่องใสขึ้น คนรอบข้างรู้สึกได้ ก็เป็นกำลังใจที่ดี

การภาวนาเป็นเรื่องของทุกศาสนา
คำถาม: มีคำแนะนำการภาวนาสำหรับคนที่นับถือศาสนาอื่น? ฝรั่งอธิบายการภาวนาด้วยข้อมูลทาง neuroscience (วิทยาศาสตร์สมอง) เป็นเรื่องการพัฒนาทักษะชีวิต การพัฒนา E.Q. การพัฒนา mindset หรือการมีชีวิตที่มีความสขุ โดยเน้นใช้ภาษาที่ร่วมสมัยเราสามารถสื่อสารง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า ขี้โมโห ขี้โกรธ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกคนสามารถฝึกฝนให้รู้ทันได้ เพราะทุกคนเคยเป็น และเคยหยุดได้ ความรู้ที่ว่าอะไรควรทำ ควรเป็น ทุกคนรู้ดีหมด ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่อยู่ ตอนที่จำเป็นต้องใช้ความรู้นั้น ความรู้มันหาย มันมาไม่ทันให้ใช้ เช่น ทุกคนรู้ว่าความ โกรธไม่ดี แต่ตอนที่โกรธ ความรู้อันนั้นหายไปชั่วขณะ ตอนนั้นคิดแต่ว่าต้องด่ามันสักหน่อย “อย่างนี้รับไม่ได้” “ทำอย่างนี้ได้อย่างไรกัน” จะเห็นว่า ความรู้ว่าอะไรควร ไม่ควรหายไปหมดเลย มีแต่ความคิดชักชวนจากความโกรธ เราจึงไม่ต้องการความรู้ที่ว่ารู้อะไร (know what) แล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าคือ how to แล้ว จะทำอย่างไรล่ะ เราจะสอนลูก สอนลูกน้องให้รู้จัก regulate emotion ยังไง เราอาจเรียกสิ่งเหลา่ นี้ว่า mental hygiene ก็ได้ emotional hygiene ก็ได้ ใช้ศัพท์อะไรก็ได้ ไม่ต้องเป็นศัพท์ทางศาสนา ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน คือเรื่องของการฝึกซ้อมทักษะเหล่านี้
จะฝึกฝนในรูปแบบก็ได้ หรือจะปฏิบัติการในชีวิต เช่น จะบ่นลูกใหน้ ้อยลงใน 2 สัปดาห์นี้ ลองทำดู ลองตั้งใจทำ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น บ้าง อาจบอกให้ลูกช่วยเตือน ช่วยกระตุกแม่ ก็ได้เหมือนกัน แล้วแต่อุบายของแต่ละคน แล้วเวลาที่ลูกเตือนก็ระวังเผลอไปตวาดลูกกลับ
ถึงแม้จะนับถือศาสนาใดก็สามารถฝึกฝนคุณภาพของ self-observation หรือ self-awareness นี้ได้ การฝึก self-awareness แบบนี้คือ การตระหนักรู้เป็นขณะ ๆ ไป ไม่ใช่การบอกว่า “ฉันรู้ว่าฉันเป็นคนแบบนี้แบบนั้น” “ฉันมีนิสัยแบบนี้แบบนั้น” self-awareness ที่ต้องการฝึกคือ การตระหนักรู้สด ๆ ในขณะที่กำลังจะด่าคน แล้วเราตระหนักขึ้นมาตอนนั้นว่าเรากำลังโกรธ เราไม่ควรทำ ความสามารถในการมี self-awareness แบบนี้ ทุกคนมีอยู่ แต่ไม่ได้เสริมเหตุปัจจัยที่เอื้อให้เกิดสติ ระลึกขึ้นได้ทันความต้องการ เราก็มีหน้าที่ในการเสริมเหตุปัจจัยนั้น คือการฟังให้เข้าใจ การมีศรัทธา มีความเพียร ค่อยเป็นค่อยไป

รักษาตน รักษาคนอื่น
ให้กำลังใจในสิ่งที่ทุกคนทำ เป็นสิ่งที่ดี เป็นการใส่ใจรักษาตนเอง ผู้ใดรักษาตน ผู้นั้นได้ชื่อว่ารักษาผู้อื่น การดูแลตัวเองด้วยสติ ด้วย ปัญญา ก็เป็นการดูแลโลก ดูแลสิ่งแวดล้อมแล้ว เมื่อก่อนเราอาจเคยทำอะไรให้เกิดปัญหา ก็รู้เท่าทันมัน อาจไม่ได้ทำให้มันหมดไป เพียงแค่รู้เท่าทันก็ให้ผลหลาย ๆ อย่างแล้ว ทั้งในแง่ชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพร่างกายต่าง ๆ มีงานวิจัยมากมายที่บอกว่า การฝึกฝนภาวนาทำให้สมดลุร่างกายดีขึ้น ความเครียด น้อยลง นอนหลับดีขึ้น แต่ที่มากกว่านั้นคือ เพื่อให้จิตใจเรามั่นคง สามารถดำรงอยู่ในสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงมากมาย เราเห็นได้ง่าย ๆ ว่าคนในสังคมไม่ได้เตรียมจิตใจที่จะเผชิญสถานการณ์แบบนี้ มีอาการของขึ้นกันง่าย ๆ มีคนจุดไม้ขีดทาง social media ทุกวัน เรื่องวัคซีนเอย ชุดตรวจโควิดเอย นิรโทษกรรมเอย พอไฟ (ในใจ) เรากำลังจะดับ ก็ถูกจุดใหม่เรื่อย ๆ เติมน้ำมันในใจเราเอง แถมบางทีก็สาดให้คนอื่นอีก การฝึกภาวนาก็เป็นการลดภาระในใจเรา และลดภาระการสาดไฟให้สังคมด้วย การภาวนาดูแลตนเองด้วยสติและปัญญาเป็นการรักษาตน รักษาคนอื่นไปด้วยกัน ขอให้มีความมั่นคง ภาวนากันให้สม่ำเสมอ