หมวดหมู่
Uncategorized

ตามดูตามรู้ใจ คือเดินสายกลาง

แก่นที่แท้จริงของการเดินสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทาคือ จิตมีความเป็นปกติไม่หลงนั่นเอง เมื่อใดก็ตามที่จิตหลงก็หลุดจากความเป็นปกติ ไม่เป็นกลาง การฝึกสติเพื่อให้จิตตั้งมั่นเป็นกลางนั้น ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยตรง แต่เกิดจากการฝึกสังเกตให้รู้เวลาที่จิตหลง เมื่อรู้ทันจิตหลงได้บ่อย ความตั้งมั่นเป็นกลางก็จะค่อยๆเกิดขึ้น อุปมาเหมือนการขี่จักรยาน ตอนขี่หัดจักรยานเป็นใหม่ๆ ยังไม่ชำนาญ จะเลี้ยวไปซ้ายที่ขวาที ทั้งนี้เพื่อประครองไม่ให้จักรยานล้ม พอจะล้มทางซ้ายก็ต้องเลี้ยวไปทางซ้าย จักรยานก็จะตั้งตรง พอจะล้มทางขวาก็ต้องเลี้ยวไปทางขวา จักรยานก็กลับมาตั้งตรง เป็นแบบนี้สลับกันไป หาช่วงที่จักรยานตั้งตรงนิ่งๆได้ไม่นาน ฝึกไปบ่อยๆ เมื่อชำนาญสามารถขึ่จักรยานไปตามเส้นตรงโดยไม่ล้มไปเป็นระยะทางไกลๆได้ การฝึกจิตก็เช่นกัน ฝึกใหม่ๆใจยังไม่ตั้งมั่นหลงไปไหนต่อไหนเหมือนจักรยานที่วิ่งส่ายไปส่ายมา พอมีสติรู้ตัวใจตั้งมั่นขึ้น หลงสั้นลง ใจเป็นกลางได้มากขึ้นโดยไม่ต้องตั้งท่าหรือใช้ความพยายาม เหมือนขึ่จักรยานได้เก่งขึ้น ส่ายซ้ายส่ายขวาน้อยลง วิ่งตรงทางได้โดยไม่ต้องตั้งใจหรือใช้ความพยายาม ขี่ไปได้สบายๆ การเดินสายกลางจึงต้องอาศัยการฝึกฝนเรียนรู้ให้เกิดสติรู้ทันจิตที่หลงไป ไม่ใช่การพยายามทำใจให้เป็นกลางๆ

หมวดหมู่
Uncategorized

ทำอย่างไรจิตจะหลงสั้นลง

ธรรมชาติของจิตถ้าไม่มีสติกำกับจะหลงไปทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย และที่มากที่สุดคือหลงไปทางใจ ทำอย่างไรจิตจึงจะไม่หลงนาน คำตอบคือการฝึกสติ วิธีฝึกสติก็คือหมั่นสังเกตใจตนเอง เดี๋ยวคิด เดี๋ยวรู้สึก เห็นภาพหรือได้ยินอะไรก็คิดปรุงแต่งเป็นเรื่องราว แม้เวลาที่ไม่เห็นไม่ได้ยิน นั่งเงียบๆคนเดียวก็มีความคิด ความรู้สึกผุดขึ้นมาในใจแล้วก็หลงปรุงแต่งความคิดความรู้สึกนั้นต่อ ก็ได้เรื่องราวตามมามากมาย ให้ฝึกสังเกตไปบ่อยๆ จิตจะจดจำได้ว่า นี่คิด นี่ปรุงแต่ง นี่ฟุ้งซ่าน นี่เบื่อ นี่โกรธ ฯลฯ ดังนั้นในระยะแรกของการฝึกก็คือ ให้จิตระลึกรู้และจดจำสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นในใจได้มากๆ ต่อมาจิตระลึกรู้ขึ้นมาได้เองว่า มีความคิด ความรู้สึกเกิดขึ้นในใจ การที่จิตระลึกรู้ขึ้นมาได้เองเรียกว่าเกิดสัมมาสติ สังเกตว่า เป็นการระลึกรู้ขึ้นมาได้เอง ไม่ได้เกิดจากการตั้งใจนึกคิด ไม่ได้คิดว่า เอ! เมื่อกี้คิดอะไรน้า? อ๋อ! คิดไม่พอใจ อย่านี้ไม่เรียกว่าระลึกขึ้้นมาได้เอง ถ้าหากว่าตั้งใจจะดูว่าใจเป็นอย่างไร ก็ให้รู้ว่าตั้งใจ บางครั้งสังเกตไปเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า เอ! ที่เรารู้อยู่นี้ถูกต้องไหม? ก็ให้รู้ว่าใจเกิดความสงสัย ไม่ต้องพยายามหาคำตอบ ถ้าเผลอดิ้นรนหาคำตอบก็ให้รู้ว่า ดิ้นรนหาคำตอบ สรุปย่อๆคือใจเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น

หมวดหมู่
Uncategorized

วิธีรักษาจิต

รักษาจิตด้วยสติ

อย่างที่กล่าวมาว่า จิตโดยธรรมชาติผ่องใส จะมัวหมองก็เพราะกิเลสที่จรมา ลำพังกิเลสที่จรมาทำอะไรจิตไม่ได้ถ้าจิตไม่หลง วิธีรักษาจิตก็คือ ฝึกฝนให้จิตหลงสั้นลง ที่บอกว่าหลงสั้นลงเพราะ แรกๆยังไม่เคยฝึกฝนจิตจะหลงตลอดทั้งวัน หาเวลาที่จิตไม่หลงได้น้อยมาก เมื่อรู้ตัวว่าหลง ก็หมายความว่าตัดความหลงให้สั้นลง สมมุติว่าเดิมไม่เคยฝึกมาหลงตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอนหลงตลอด คือมีเรื่องราวปรากฏในรูปของความคิดนึก ความรู้สึก ต่อเนื่องจากเรื่องนี้ไปเรื่องนั้น ไม่มีช่วงที่รู้สึกตัวเลย พอเริ่มฝึกรู้ตัวได้ครั้งหนึ่ง ภาวะที่จิตหลงไปกับเรื่องราวก็ถูกแบ่งเป็นสองท่อน ไม่ต่อเนื่อง ฝึกไปเรื่อยๆ รู้ตัวบ่อยขึ้น ภาวะจิตหลงก็จะถูกแบ่งเป็นช่วง เป็นช่วง ยิ่งรู้ตัวบ่อยเท่าไหร่ เวลาที่หลงก็จะเป็นช่วงสั้นลงๆ เราจะพบว่าวันๆหนึ่งหลงบ่อยมาก บางคนหลงคิดว่า ยิ่งฝึกยิ่งแย่เพราะเดิมไม่หลง ตอนนี้หลงบ่อยวันหนึ่งหลงหลายครั้งมาก ที่จริงแล้วการพบว่า หลงบ่อยๆ เป็นผลของการฝึกจนจิตระลึกรู้ภาวะหลงได้เร็วขึ้น คือพัฒนาขึ้นไม่ใช่แย่ลงอย่างที่เข้าใจ

รู้ว่าหลงบ่อยแล้วได้อะไร

รู้ว่าหลงบ่อยๆแล้วจะได้อะไรนั้น ตอบแบบนักปฏิบัติคือ “ได้รู้” ว่าหลง ไม่มีอะไรมากกว่า ได้รู้ ส่วนรู้แล้วผลที่ตามมาเป็นอย่างไรนั้น ตอบสั้นๆ เป็นผลดีแน่นอน ไม่มีเสีย เมื่อใดก็ตามรู้ว่าหลง จิตก็พ้นจาก”ภาวะหลง”เปลี่ยนเป็น”ภาวะรู้” ภาวะรู้นี้เป็นกุศล รู้บ่อยๆจิตก็เป็นกุศลบ่อยๆ การพูด ทำ คิด ก็จะดีเป็นกุศลไปด้วย นักปฏิบัติไม่ได้มุ่งหวังเอากุศล หรืออะไรทั้งนั้น แค่รู้อยู่เท่านั้น กุศลเป็นผลพลอยได้ เป้าหมายหลักของการฝึกฝนคือให้เกิดปัญญาเห็นความจริง เห็นว่าไม่ว่าอะไรที่เกิดขึ้นล้วนไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ของคงที่ถาวรเป็นตัวเป็นตน เมื่อเห็นแล้วก็จะคลายความยึดมั่นถือมั่น เป็นอิสระจากความคิด นึก รู้สึกคือไม่ถูกครอบแล้วตอบสนองแบบอัตโนมัติ สามารถใช้ความคิดนึก ใช้ความรู้สึกไปในหนทางที่ถูกที่ควร

หมวดหมู่
Uncategorized

ทำไมต้องรักษาจิต

ตั้งประเด็น “รักษาจิต” ก็เพราะว่าปัญหาความทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นที่จิต ความทุกข์เกิดกับจิตที่ไม่เป็นปกติ คำว่าเป็นปกติคือ เป็นกลาง ไม่หลงไปกับความยินดี ยินร้าย หลงไปกับความปรุงแต่ง หลงไปกับความยึดมั่นถือมั่น ฯลฯ สรุปคือ เมื่อใดหลง จิตก็เสียความเป็นปกติไป เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมดทุกคน ไม่ว่า คนปกติ หรือคนที่มีปัญหาทางจิตใจ เป็นโรคจิตโรคประสาท ต่างกันที่ความหนักเบา

 

ธรรมชาติของจิต

ก่อนจะกล่าวถึงการรักษาจิต ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของจิตพอสังเขปก่อน ธรรมชาติของจิตไม่มีรูปไม่มีร่าง เรียกว่าไม่มีตัวตนที่จับต้องได้ แต่ก็รู้ได้ว่ามีอยู่ จะรู้ว่าจิตมีอยู่ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะ จะกล่าวถึงสติสัมปชัญญะในภายหลัง จิตมีความลักษณะพิเศษคือ จิตเห็นจิตได้ คือจิตรู้ได้ว่าจิตเองเป็นอย่างไร พื้นฐานของจิตผ่องใสเป็นกลาง ตื่นตัว พร้อมจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าอยู่เสมอ ในสภาวะที่จิตมีกำลังมีความตั้งมั่น จิตจะเพียงรับรู้สิ่งเร้าที่เกิดขึ้นอย่างที่มันเป็น ไม่ปรุงแต่งเป็นเรื่องราว อย่างที่เราได้ยินกันว่า “สักแต่ว่ารู้” ไม่เกินนั้น แต่ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นก็จะหลงไปกับสิ่งเร้า จะมีการปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราว ความทุกข์ี่ก็เกิดขึ้นตอนมีเรื่องราวเกิดขึ้นนี่แหละ ตรงกับวลีที่เราใช้กันเวลามีอะไรทำให้เกิดปัญหาให้วุ่นวายใจ หนักใจว่า “เกิดเรื่องแล้ว” “เป็นเรื่องแล้ว” “ได้เรื่องแล้ว” “มีเรื่องแล้ว” เมื่อไหร่เรื่องเกิด ก็เกิดเรื่อง เกิดทุกข์เป็นธรรมดาอย่างนี้เอง

รักษาจิตให้เป็นปกติได้ก็ไม่เกิด “เรื่อง” เมื่อไม่มากเรื่องก็ไม่ค่อยเป็นทุกข์