หมวดหมู่
สติกับการเผชิญปัญหา

หนีไม่พ้น ค้นให้เจอ

ทุกข์เยียวยาได้ด้วยการรู้ทุกข์

อยากพ้นทุกข์ต้องเข้าใจทุกข์แจ่มแจ้ง
ไม่ใช่เอาแต่หนี ยิ่งหนียิ่งเจอ ปัญหาคือไม่รู้ว่ากำลังทุกข์เพราะหนีทุกข์
หนีความทุกข์ไปหาความสุข สนุกสนาน มันหนีไม่พ้นเพราะ
มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เหมือนเงาตามตัว เราหนีเงาตัวเองไม่ได้

สิ่งที่ทำได้คือ เผชิญความทุกข์ (เศร้า เบื่อ เหงา อิจฉา เกลียด น้อยใจ ฯลฯ) อย่างตรงไปตรงมา ทำความเข้าใจธรรมชาติของมันจึงจะพ้นจากความทุกข์ได้ จะทำได้ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกที่ตรงเป็นเบื้องต้น(สัมมาทิฐิ) แล้วฝึกฝนดำเนินชีวิตให้สอดคล้องต้องกันกับความรู้ความเข้าใจ

ส่วนใหญ่เรารู้และเข้าใจตามตัวหนังสือ ท่องได้พูดได้ แต่ก็ยังดำเนินชีวิตไม่สอดคล้องต้องกันกับความรู้ความเข้าใจ เช่นอุปมาเรารู้แล้วว่า ยังไงก็ต้องมีเงาตามตัวเรา แต่เผลอ ๆ เราก็ลืม สะดุ้งตกใจกับเงาของตัวเอง เช่นกันกับความเศร้าหรือความทุกข์ใด ๆ ก็ตาม มันมาเป็นคราว ๆ ไม่อยู่ตลอดเวลา เป็นไปตามเหตุปัจจัย (ไม่พยายามอธิบายหาเหตุตอนกำลังเผชิญ) ไล่ก็ไม่ไป หนีก็ไม่พ้น ยิ่งหนียิ่งดิ้นรนก็ยิ่งจมดิ่ง ลากยาว

แต่ทุกครั้งเวลาเป็นทุกข์เศร้าหมอง อยากหาย ไม่อยากทุกข์ เราก็เผลอจ้อง คอยมอง คอยไล่ พยายามดิ้นรนหนีจนเหนื่อย ท้อ และในที่สุดก็ทนไม่ไหว (วิ่งหนีเงาไม่พ้น อยากหนีเลยคอยดูเงาตัวเองอยู่เรื่อย ๆ ก็เห็นอยู่เรื่อย ๆ สะดุ้งซ้ำแล้วซ้ำอีก) ไม่อยากรับรู้อยากหลับ อยากตายให้พ้น ๆ ทั้ง ๆ ที่ผ่านมาก็เคยผ่านความทุกข์เรื่องร้ายมานับไม่ถ้วน พอเจออีกลืมไปว่ามันเป็นธรรมชาติธรรมดาของชีวิต หลงไปคิดปรุงแต่งบีบคั้น วนเวียน ไม่ปล่อย พยายามปล่อย พยายามผลักก็ไม่ไป

เราจะป้องกันไม่ให้เผลอไม่ให้หลงไปดิ้นรนได้ด้วยการหมั่นฝึกฝนทำไว้ในใจอย่างถูกต้องแยบคายที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ กล่าวคือเตือนตัวเองเสมอ ๆ ว่าอะไรมันก็ไม่เที่ยง ตั้งอยู่ได้ไม่นาน ไม่ใช่ตัวเราของเรา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น ปล่อยให้มันเป็นไปของมัน เปิดใจเข้าใจยอมรับธรรมชาติธรรมดาของมันก่อน ความดิ้นรนบีบคั้นในใจก็จะทุเลาลง เหลือแต่ความทุกข์ตามธรรมชาติล้วน ๆ ที่ไม่ปนด้วยความปรุงแต่งอันเนื่องมาจากความเกลียด ความไม่ชอบไม่พอใจ ถึงตอนนี้ความมั่นคงตั้งมั่นของจิตใจก็กลับคืนมา มีความกล้าหาญ พร้อมเผชิญความทุกข์อย่างตรงไปตรงมา รับรู้ความทุกข์ตามความเป็นจริงว่า มันเป็นสิ่ง ๆ หนึ่งที่จรผ่านเข้ามา เหมือนก้อนเมฆ ผ่านเข้ามาในท้องฟ้า มันเป็นไปตามธรรมชาติ ใจเราเหมือนท้องฟ้าที่มีก้อนเมฆลอยอยู่ ความมั่นคงก็ยิ่งเพิ่มขึ้น คลายจากความดิ้นรน ความต้องการหนีความทุกข์หายไป เกิดเป็นความสงบมั่นคงภายใน ไม่ขึ้นกับความทุกข์นั้นจะหายไปหรือไม่

นี่จึงเรียกพ้นจากทุกข์

หมวดหมู่
สติกับการเผชิญปัญหา

ทางเลือกที่ 3

screen-shot-2017-04-24-at-13-56-08.png (46.4KB; 745x671 pixels)
โพสต์นี้ตั้งแต่ปี 2012 สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง อาจจะเลวร้ายลงด้วยซ้ำไป ในช่วงเวลาวิกฤตทำให้เราเห็นว่า ความแตกแยก โกรธเกลียด ตัดสิน แบ่งพวก แบ่งฝ่าย ทำให้การเผชิญวิกฤตมีความยุ่งยาก ลำบาก ซับซ้อน ไม่เป็นคุณต่อใครเลย ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ อเมริกา ต้นฉบับ ต้นความคิดระบบพัฒนาต่าง ๆ พอต้องเผชิญวิกฤตท้าทายความมั่นคงของระบบการเมือง สังคม และที่สำคัญท้าทายระดับบุคคล
หวังว่า วิกฤตนี้เป็นโอกาสหันมาร่วมกันแก้ปัญหา ฟันฝ่าอุปสรรคไปด้วยกันจริง ๆ ตามทางเลือกที่ 3 จะได้มากน้อยแค่ไหนอย่างน้อยก็ขอให้เได้เริ่มต้น
มีนาคม 2555
ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย (สมมุติว่า มีความขัดแย้งระหว่างผม กับ คุณ) ทางเลือกที่มีอยู่มักจะจำกัดอยู่แค่สองทาง คือ ไม่ทางผม ก็ทางคุณ ทั้งผมและคุณก็พยายามที่จะปกป้องความเห็นของตัวเอง ต่างฝ่ายต่างยืนหยัดในความถูกต้องเหมาะสมของตนเอง (บางทีเผลอไปปกป้องความเป็นตัวตน ออกนอกประเด็นปัญหาไปไกล) จนบางครั้งก็บานปลายไปจนกระทั่งโกรธเกลียดกันไปเลยก็มี ลืมไปว่า สิ่งที่ขัดแย้งนั้นไม่ใช่เรื่องระหว่างตัวคุณกับตัวผม แต่เป็นเรื่องของความคิดเห็นของผม กับความคิดเห็นของคุณ แม้ความเห็นเราแตกต่างกัน แต่เราต่างก็เป็นคนที่มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีความมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ที่สำคัญทั้งคุณและผมต่างก็ต้องการทางออก ต้องการคำตอบที่ดีกว่า ไม่ได้ต้องการหาว่าใครถูก ใครผิด ไม่ได้ต้องการตัดสินว่าความคิดของคุณหรือของผมดีกว่ากัน
 
ทางเลือกที่ 3 เป็นทางเลือกที่เราคือผมและคุณสามารถจะอยู่ร่วมกัน เป็นเพื่อน ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องเกลียดกัน
ทางเลือกที่ 3 จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?
1. เข้าใจตนเองและยอมรับตนเองอย่างแท้จริง มีอิสระที่จะคิดที่จะตัดสินใจทำอะไรด้วยตนเอง
2. เห็นคนอื่นเป็นปัจเจกชน วางทัศนคติที่ตีตรา ติดป้ายว่าคนอื่นเป็นพวกนั้นพวกนี้ สีนั้นสีนี้ พรรคนั้นพรรคนี้
3. ทำความเข้าใจมุมมองที่ขัดแย้ง แตกต่างอย่างใส่ใจ แทนที่จะหลีกเลี่ยงหรือต่อต้าน ตรงนี้ต้องอาสัยการฟังอย่างลึกซึ้งและด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง (empathic listening)
4. หาทางออกที่ดีกว่าของคุณและของผม หรือของใครก็ตาม แทนที่จะมัวแต่ต่อสู้กัน เป็นการรวมพลังกันแก้ปัญหา หาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่การประนีประนอม หรือยอมกัน เป็นทางออกที่เกิดจากความเข้าใจซึ่งกันและกัน มีความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดีต่อกัน ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มีเป้าหมายเพื่อสิ่งที่มีคุณค่า ดีงาม
ย่อ ๆ ง่าย ๆ เคารพตัวเอง เคารพผู้อื่น ฟังกันให้มากขึ้น ตัดสิน พิพากษากันให้น้อยลง ทำได้ด้วยการเจริญสติครับ
ได้แนวคิดมาจากหนังสือเรื่อง 3rd alternative ของ Stephen Covey.
หมวดหมู่
สติกับการเผชิญปัญหา

ไม่อยากน็อตหลุดต้องหมั่นขันน็อตบ่อย ๆ

%e0%b8%82%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%99%e0%b9%87%e0%b8%ad%e0%b8%95เครื่องยนต์ เครื่องจักรเมื่อใช้งานไปน็อตอาจจะหลวม ต้องหมั่นตรวจตราและขันให้แน่นอยู่เสมอ ๆ มิฉะนั้นวันดีคืนดีน็อตอาจจะหลุดและส่งผลเสียหายร้ายแรงได้
จิตใจก็เช่นกัน อาการน็อตหลวมคือ อึดอัด หงุดหงิด รำคาญ ไม่พอใจ ถ้าไม่สังเกต ไม่เอาใจใส่ฝึกฝนให้เท่าทันและระงับยับยั้งอาการเหล่านี้ ปล่อยไปตามบุญตามกรรมวันดีคืนดีอาการน็อตหลุดคือ บันดาลโทสะ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็อาจจะเกิดขึ้น ถึงตอนนั้นความเสียที่ตามมาอาจจะแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว
ความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ ควบคุมความโกรธต้องอาศัยการเรียนรู้ฝึกฝน ไม่ใช่แค่บอก แค่สั่งสอนว่า อย่าโกรธนะ ความโกรธไม่ดี ห้ามโกรธ การสั่งสอนแบบนี้ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด การเรียนรู้เริ่มต้นด้วยการฝึกสังเกตอาการหลวม (ยังไม่หลุด) ให้รู้ทันบ่อย ๆ เมื่อรู้ทันแล้วหยุด วางใจเป็นกลางสักครู่ อาการหลวมก็จะหายไปเอง ฝีกไปพักหนึ่ง เวลามีอาการหลวมจะนึกได้ ทันขึ้นมาได้เอง แล้วจะสามารถระงับยับยั้งได้ ไม่หลงยาวจนหลุดไปเป็นความโกรธที่รุนแรงควบคุมไม่ได้
หมวดหมู่
สติกับการเผชิญปัญหา

ผิดโดยไม่รู้ตัวน่ากลัวมาก

พลาดแล้วล้มแล้วยังไม่รู้ตัว ไม่ได้สติ ก็เลยไม่ได้ตั้งหลักให้ดีก่อน กลับพยายามดิ้นรนแถไถ กระเสือกกระสนไปซึ่งรังแต่จะได้รับความบาดเจ็บมากขึ้น
พลาดแล้วล้มแล้วควรหยุดนิ่ง ๆ ให้ได้สติ คลายจากความกลัว ความตกใจ มองให้รอบว่าควรจะทำอะไร
ล้มแล้วอย่ารีบลุกทันที ควรนอนพักนิ่ง ๆ สักครู่ รีบลุกอาจจะน่ามืดเป็นลม สำรวจให้ดีว่าบาดเจ็บต้องไหน จะต้องระวังอะไร พร้อมแล้วค่อยลุก ค่อยเดินต่อไป
หมวดหมู่
สติกับการเผชิญปัญหา

ฝึกสติป้องกันน็อตหลุด

อาการน็อตหลุดได้ทำให้ชีวิตของหลายคนต้องประสบกับความยุ่งยากลำบากมานักต่อนักแล้ว

อาการน็อตหลุดที่รุนแรงน่ากลัว ไม่ยั้งนั้น เนื่องจากขณะเกิดอาการไม่มีสติ ไม่รู้ว่าตนกำลังทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำเรื่องที่เป็นความผิดร้ายแรง (สำนึกหายไปชั่วขณะ) การทำ “ผิดโดยไม่รู้” จึงน่ากลัวมาก เพราะเมื่อไม่รู้ตัวว่ากำลังทำผิด ก็จะทำโดยไม่ยั้ง ไม่สามารถจะหยุด ไม่สามารถยับยั้งหักห้ามใจได้ ยิ่งถ้าประกอบกับไม่รู้ตัว หลงไปรู้สึกว่าการกระทำเช่นนั้นแสดงถึงความมีอำนาจ ยิ่งใหญ่ น่าเกรงขาม ก็ยิ่งเสริมให้แรงขึ้น หลุดโลกมากขึ้น
 
การป้องกันอาการน็อตหลุดต้องอาศัยการฝึกฝนให้จิตใจมีความมั่นคงเข้มแข็ง ตั้งมั่นไม่หลงไปกับความโกรธ ความไม่พอใจ ถ้าฝึกดีแล้ว เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้นจะเกิดสติระลึกเท่าทันความโกรธ ถ้าระงับให้หมดไปไม่ได้อย่างน้อยก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่จะทำอะไรตามความโกรธ ยังพอที่จะมีโอกาสได้ยับยั้งให้ทุเลาเบาบางลง จากที่จะลงไม้ลงมือรุนแรง เป็นแค่คำพูดต่อว่า เสียงดังเท่านั้น
 
 
“…ความรู้จักอดทนและอดกลั้นไม่ยอมตัวยอมใจให้วู่วามไปตามเหตุการณ์   ตามอคติ   และตามอารมณ์ที่ชอบใจและไม่ชอบใจนั้นทำให้เกิดมีการยั้งคิด และธรรมดาคนเรา เมื่อยั้งคิดได้แล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะพิจารณาเรื่องที่ทำที่พูด ทบทวนดูใหม่ได้อีกคำรบหนึ่ง การพิจารณาทบทวนเรื่องใด ๆ ใหม่ ย่อมจะช่วยให้มองเห็นละเอียดชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจอันกระจ่างสว่างไสว ทั้งในแง่ที่จะคิด ทั้งในทางที่จะปฏิบัติ ปัญหาหรือความติดขัดก็ย่อมบรรเทาลง สามารถจะดำเนินงานทุกอย่างต่อไปได้โดยถูกต้องไม่ผิด ไม่พุ่ง ไม่หลง และไม่เสียเวลางานที่ทำก็จะบรรลุผลสมบูรณ์บริบูรณ์…”
พระบรมราโชวาท ๑๔ กันยายน ๒๕๑๖
 
 
 
 
 
หมวดหมู่
สติกับการเผชิญปัญหา

ชีวิตที่แตกแยก

อยู่วัดทำได้สารพัด นั่งสมาธิ เดินจงกรม สวดมนต์ ปิดวาจา แต่เวลาอยู่บ้าน อยู่ที่ทำงานเหมือนเดิม หงุดหงิด รำคาญใจ บ่นสารพัด
เวลาทำงานจิตอาสา ทำโน่นทำนี่ขยันขันแข็ง
แต่ในงานประจำ(มีเงินเดือน) กลับเหนื่อยหน่าย ไม่ค่อยเต็มใจ ไม่อาสา
เพราะมุ่งจะเอา เอาดี เอาบุญ เอาทำได้ เอาเก่ง เอาสุข เอาสนุก แต่ไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าถึงแก่น
หมวดหมู่
สติกับการเผชิญปัญหา

คุณค่าของสติ

เนื่องจากสติเป็นท้้งตัวเหนี่ยวรั้งปรามจิตไม่ให้หุนหันพลันแล่นหวั่นไหวไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้า ขณะเดียวกันก็คอยหนุนประคองจิตให้มุ่งไปในทิศทางที่ปรารถนา โดยไม่ถูกรัดรึงด้วยความอาลัยอาวรณ์ในสิ่งที่่ผ่านไป หรือความพะวงหวั่นหวาดต่อสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
 
ที่มา: แสวงหารากฐานของชีวิตในโลกแห่งกิจกรรม โดย พระไพศาล วิสาโล
หมวดหมู่
สติกับการเผชิญปัญหา

ฝึกสติเพื่อรับผิดชอบตนเอง

มีคำถามว่า มีคนทำให้เราโกรธ เราก็พยายามฝึกระงับความโกรธ ไม่ตอบโต้ แต่เขาก็ไม่ยอมเลิก ไม่เปลี่ยนแปลง อย่างนี้เราจะไม่กลายเป็นคนเก็บกด หรือต้องยอมไปตลอดหรือ คำตอบอยู่ในคลิปนะครับ

หมวดหมู่
สติกับการเผชิญปัญหา

เจ็บปวดเลือกไม่ได้ แต่ทุกข์เลือกได้

pain is invitable

ความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เลือกได้ที่จะทุกข์กับมันหรือไม่ จะเลือกที่จะไม่ทุกข์กับมันได้ต้องผ่านการฝึกฝนให้มีสติรู้เนื้อรู้ตัวบ่อย ๆ จนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่หวั่นไหวไปกับความเจ็บปวด รับรู้ความเจ็บปวดด้วยใจที่เป็นกลาง เห็นความเจ็บปวดเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง เราอยู่ส่วนหนึ่ง ปวดอยู่ส่วนหนึ่ง แยกจากกัน ไม่เผลอไปยึดความเจ็บปวดเป็นเรา ย้ำว่าต้องฝึกฝน เริ่มฝึกฝนเสียแต่บัดนี้ อย่าประมาท แค่ Like แค่ Share ไม่เกิดประโยชน์นะครับ